ประวัติสำนักแผนงาน
งานวางแผนพัฒนาทางหลวง เป็นภารกิจหลักที่สำคัญของกรมทางหลวง ประกอบด้วยการกำหนดและวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ นโยบาย ทิศทาง และเป้าหมายของการพัฒนา การศึกษาและวางแผนพัฒนาทางหลวง ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว เพื่อใช้เป็นกรอบในการพิจารณาคัดเลือกและจัดลำดับความสำคัญโครงการ การศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ และผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจพิจารณาลงทุนโครงการ การศึกษากำหนดหลักเกณฑ์ความต้องการระบบโครงข่ายทางหลวง ตลอดจนการจัดการข้อมูลระบบทางหลวง ประเภททางหลวง ระบบหมายเลขทางหลวง และระยะทางควบคุม การศึกษาวิเคราะห์การลงทุนด้านทางหลวง ทั้งเงินงบประมาณ เงินกู้ และแหล่งเงินอื่นๆ รวมถึงการให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุน เพื่อกำหนดแผนกลยุทธ์การลงทุนโครงการต่างๆ การวิเคราะห์และจัดทำแผนการดำเนินงานโครงการ และงบประมาณของกรมทางหลวง ตลอดจนการติดตามผลการดำเนินงานและการประเมินผลโครงการเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ เพื่อให้ทราบถึงผลลัพธ์และความคุ้มค่าที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการที่ผ่านมาและที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อนำมาปรับปรุงและแก้ไขต่อไป
วิวัฒนาการด้านวิชาการของงานวางแผนทางหลวง1
การพัฒนาทางหลวงในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง จากระยะทางเพียงไม่กี่ร้อยกิโลเมตรในปี 2455 มาเป็น 51,707.510a กิโลเมตรในปัจจุบัน ทำให้กรมทางหลวงมีหน้าที่และรับผิดชอบในการก่อสร้าง บูรณะ ตลอดจนบำรุงรักษาทางเพิ่มขึ้น ต้องใช้จ่ายเงินไปในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก ปัญหาสำคัญก็คือว่าทำอย่างไรจึงจะพัฒนาทางหลวงเหล่านี้ให้ได้มาตรฐานที่เหมาะสมและเพียงพอกับการจราจร เพื่อให้การขนส่งทางถนนเป็นไปอย่างประหยัด รวดเร็ว ปลอดภัย และสะดวกสบาย ตามสภาวะกำลังเงินงบประมาณที่มีจำกัด การแก้ปัญหาดังกล่าวจะต้องมีการวางแผนที่ดี เพื่อให้การปฏิบัติงานในภารกิจของกรมทางหลวงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การวางแผนจะประสบผลสำเร็จหรือไม่นั้น จึงขึ้นอยู่กับขบวนการในการวางแผน ซึ่งประกอบด้วยการวางโครงการ การติดตามผลงาน และการประเมินผลโครงการ
ในอดีตที่ผ่านมายังไม่มีการวางแผนเพื่อพัฒนาทางหลวงอย่างมีรูปแบบที่แน่นอน กระทั่งในปี พ.ศ. 2505 ประเทศไทยได้มีแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นแผนแม่บทในการพัฒนาประเทศขึ้น การวางแผนเพื่อพัฒนาทางหลวงจึงได้ดำเนินการอย่างจริงจัง และสอดคล้องกับแผนแม่บท ฉะนั้น บทความนี้จะเป็นวิวัฒนาการของการวางแผนเพื่อพัฒนาทางหลวงตั้งแต่ปี 2508 เป็นต้นมา
การวางแผนก่อสร้างทางหลวงของกรมทางหลวงได้มีวิวัฒนาการมาตามกาลเวลาและตามความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยก่อนปี พ.ศ. 2505 การวางแผนเพื่อพัฒนาทางหลวงอยู่ในลักษณะเพียงการกำหนดนโยบายและเป้าหมายไว้เท่านั้น และการก่อสร้างปรับปรุงทางหลวงใช้เงินงบประมาณ เป็นปีๆ ไป ซึ่งส่วนใหญ่จะคำนึงถึงจำนวนรถที่ใช้ ถนนแต่เพียงอย่างเดียว ไม่มีการกำหนดเป็นโครงการ ระยะยาวไว้ งบประมาณที่ได้รับระหว่างปี พ.ศ. 2498-2505 อยู่ระหว่าง 4 ถึง 6 เปอร์เซ็นต์ของ งบประมาณทั้งประเทศ และจนถึงปี พ.ศ. 2505 กรมทางหลวงมีระยะทางในความดูแลรับผิดชอบรวม 8,967 กิโลเมตร
การวางแผนเพื่อพัฒนาทางหลวงเริ่มเป็นรูปธรรมขึ้นเมื่อประเทศไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรกเมื่อปี พ.ศ. 2505 โดยระยะเวลาของแผนพัฒนาฯ แต่ละฉบับ มีระยะเวลา 5 ปี ตามหลักของการวางแผนถือว่าเป็นแผนระยะปานกลาง และในขณะนั้นกรมทางหลวงได้จัดทำแผนการก่อสร้างและบูรณะทางหลวงปี พ.ศ. 2506-2513 โดยเรียกว่าโครงการ 8 ปี แต่ได้มีการประเมินผลและปรับปรุงแผนฯ ฉบับนี้ให้เหมาะสมอยู่ตลอดเวลา และในที่สุดคณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินการเป็นโครงการ 7 ปี พ.ศ. 2508-2514 ซึ่งอยู่ในช่วงของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1 และ 2 จากนั้นเป็นต้นมาได้จัดทำแผนพัฒนาทางหลวงให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทุกฉบับจนถึงปัจจุบัน
วิธีการที่ใช้เพื่อคัดเลือกสายทาง1
- วิธีการจัดลำดับความสำคัญโดยการให้คะแนน ในช่วงของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1 และ 2 กรมทางหลวงมีโครงการก่อสร้างและบูรณะทางหลวง 7 ปี (พ.ศ. 2508-2514) ใช้วิธีการจัดลำดับความสำคัญในการบูรณะปรับปรุงทางหลวงโดยการพิจารณาให้คะแนนตามสภาพทางด้านวิศวกรรม เช่น สภาพความเสียหายของผิวทาง สภาพความเสียหายของโครงสร้าง สภาพทางด้านเรขาคณิตของทาง เป็นต้น แต่ไม่ได้พิจารณาถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้มีเพียงเครื่องคิดเลขขนาดเล็ก บุคลากรมีจำนวนไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นวิศวกร เพราะนโยบายในขณะนั้นเร่งรัดการพัฒนาทางหลวงสายประธานสายหลักเป็นลำดับความสำคัญแรก เน้นความสำคัญในเรื่องมาตรฐานทางและความเหมาะสมของผิวทางที่จะลาดยาง
- วิธี Feasibility Study คือ การศึกษาความเหมาะสมก่อนการลงทุนทั้งทางด้านเศรษฐกิจและวิศวกรรม โดยเปรียบเทียบผลประโยชน์ที่ได้รับกับค่าก่อสร้าง คาดคะเนและคำนวณผลประโยชน์และค่าก่อสร้างเป็นตัวเงินตลอดอายุของโครงการหรือ หาความคุ้มทุนของโครงการนั่นเอง ดังนั้นในการคำนวณโดยวิธีนี้จึงต้องใช้บุคลากรสาขาอื่นเข้ามาร่วมทำงานด้วย กรมทางหลวงจึงได้มีเศรษฐกรและนักสถิติเข้ามาร่วมงานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 เป็นต้นมา
การศึกษาฯ โดยวิธีนี้ก็ยังคงใช้มาจนถึงปัจจุบันแต่มีการปรับปรุงให้เหมาะสมตามวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับกรมทางหลวงได้รับความช่วยเหลือจากประเทศญี่ปุ่น (JICA) และประเทศออสเตรเลีย (ADAB) ในเรื่องเทคนิคของวิธีการศึกษาความเหมาะสมก่อนการลงทุนที่เหมาะสมกับสภาพของประเทศไทยรวมถึงการให้ฝึกอบรมแก่เจ้าหน้าที่ของกรมทางหลวง นับว่าเป็นผลดีอย่างยิ่งในการวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการให้ละเอียดรอบคอบและรวดเร็วขึ้น
วิวัฒนาการของสำนักแผนงาน2
พ.ศ. 2478 แผนกแบบแผน กรมโยธาเทศบาล กระทรวงมหาดไทย
พ.ศ. 2480 กองแบบแผน กรมโยธาเทศบาล กระทรวงมหาดไทย
พ.ศ. 2484 กองแบบแผน กรมทาง กระทรวงคมนาคม
พ.ศ. 2495 กองแบบแผน กรมทางหลวงแผ่นดิน กระทรวงคมนาคม
พ.ศ. 2506 กองวางแผน กรมทางหลวง กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ
พ.ศ. 2515 กองวางแผน กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม
พ.ศ. 2538 สำนักแผนและโครงการทางหลวง กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม
พ.ศ. 2545 สำนักวางแผน กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม
พ.ศ. 2552 - ปัจจุบัน สำนักแผนงาน กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม
แหล่งอ้างอิง : aระบบข้อมูลทะเบียนสายทาง (Highway Registration Information System, HRIS) เมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2558
1วารสารกรมทางหลวง 72 ปี และ 84 ปี
2ตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมทางหลวงปี พ.ศ. 2478, 2480, 2484, 2495, 2506, 2538, 2545 และ 2552