การให้เอกชนร่วมลงทุนพัฒนาและบริหารจัดการทางหลวง
กรมทางหลวงเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการพัฒนาและดูแลรักษาโครงข่ายทางหลวงทั่วประเทศ ให้มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย สนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ โดยปัจจุบันกรมทางหลวงมีแผนงานโครงการและภารกิจที่จะต้องดำเนินการเป็นจำนวนมาก เพื่อเตรียมความพร้อมและตอบสนองความต้องการของประชาชนผู้ใช้ทางให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ดี ด้วยสภาพแวดล้อมที่มีความท้าทายในการขับเคลื่อนภารกิจต่างๆของกรมทางหลวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาข้อจำกัดด้านงบประมาณและบุคลากร เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้การดำเนินงานภารกิจที่สำคัญบางส่วนไม่เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ อาทิเช่น การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองจำนวน 13 เส้นทาง ระยะทางรวม 4,150 กิโลเมตร ตามมติคณะรัฐมนตรี ปี 2540 ซึ่งการลงทุนก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองแต่ละเส้นทางจำเป็นต้องใช้งบประมาณลงทุนที่สูง ตลอดจนปริมาณภาระงานต่างๆ ของกรมทางหลวงที่มีเป็นจำนวนมากและครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ อาทิเช่น งานบำรุงรักษาเส้นทาง รวมถึงอุปกรณ์และเครื่องหมายจราจร รวมระยะทางกว่า 5 หมื่นกิโลเมตร งานบริหารจัดการด่านชั่งน้ำหนักถาวร 70 แห่ง งานบริหารจัดการจุดพักรถหรือศูนย์บริการทางหลวงทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ตลอดจนระบบงานบริการต่างๆ บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน เช่น การจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง งานบริหารข้อมูลและข่าวสาร งานอำนวยการจราจร งานกู้ภัยและระบบช่วยเหลือฉุกเฉิน ฯลฯ ซึ่งมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นตามแผนการพัฒนาโครงข่ายมอเตอร์เวย์เส้นทางใหม่ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ จึงทำให้ข้อจำกัดด้านงบประมาณและบุคลากรดังกล่าว มักกลายเป็นอุปสรรคที่สำคัญและส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการดำเนินภารกิจในปัจจุบัน ทั้งด้านงานบำรุงรักษา การบริหารจัดการ การให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้ใช้ทาง
ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณและด้านบุคลากรในการพัฒนาและบริหารจัดการทางหลวง เป็นปัญหาอุปสรรคที่สำคัญในปัจจุบันและจะมีความท้าทายเพิ่มมากยิ่งขึ้นในอนาคต กรมทางหลวงจึงจำเป็นต้องพิจารณาแนวทางเลือกในการให้เอกชนมีส่วนร่วมดำเนินงานในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership: PPP) สำหรับการลงทุนและบริหารจัดการทางหลวง เพื่อขับเคลื่อนภารกิจต่างๆ ของกรมทางหลวง ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับทิศทางยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่มุ่งเน้นให้ภาครัฐเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและบริหารจัดการ ควบคู่กับการรักษาวินัยทางการเงินการคลังของประเทศ
การให้เอกชนมีส่วนร่วมดำเนินงานในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership) หรือ PPP คืออะไร
การให้เอกชนมีส่วนร่วมดำเนินงานในกิจการของรัฐ หรือ (Public Private Partnership) หรือ PPP คือ การให้เอกชนมีส่วนร่วมในการจัดทำบริการสาธารณะในระยะยาว ซึ่งเป็นบริการสาธารณะที่ปกติแล้วรัฐจะเป็นผู้ดำเนินการเองโดยเอกชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดหาเงินทุน การก่อสร้าง การดำเนินการ การบำรุงรักษา และการให้บริการตลอดระยะเวลาของสัญญา ซึ่งภาคเอกชนจะได้รับผลตอบแทนในรูปแบบต่างๆ เช่น สิทธิการจัดเก็บค่าบริการจากผู้ใช้ สิทธิการจัดเก็บรายได้เชิงพาณิชย์ ภาครัฐจ่ายค่าตอบแทนการดำเนินงานหรือบริหารงานให้แก่เอกชน หรือภาคเอกชนอาจมีการจ่ายส่วนแบ่งรายได้กลับคืนให้แก่ภาครัฐเช่นกัน
ลักษณะสำคัญของรูปแบบ PPP
- การร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชนในการจัดทำบริการสาธารณะ
- มักเป็นการให้สัมปทานหรือการทำสัญญาระยะยาว
- แบ่งหน้าที่รับผิดชอบ โดยอาศัยความเชี่ยวชาญของแต่ละฝ่าย
- มีการแบ่งรับความเสี่ยงระหว่างรัฐกับเอกชน
- พิจารณาต้นทุนแบบครบวงจร (Whole of life cost) ทำให้เอกชนต้องบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพเพื่อให้ผลตอบแทนสูงสุด
- กรรมสิทธิ์ในของโครงการยังเป็นของภาครัฐ หรือตกเป็นของภาครัฐเมื่อสิ้นสุดสัญญา
ประโยชน์ของการดำเนินงานรูปแบบ PPP
ภาครัฐ
- ความคุ้มค่าในการใช้จ่ายของภาครัฐและการใช้ทรัพยากร จากการผสมผสานความเชี่ยวชาญระหว่างรัฐกับเอกชน การจัดสรรความเสี่ยงอย่างเหมาะสม และจากการดำเนินงานและบริหารงานของเอกชนที่มีประสิทธิภาพ
- ประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายจากการให้เอกชนดำเนินงานและพิจารณาต้นทุนแบบครบวงจร
- ลดข้อจำกัดด้านงบประมาณ และเป็นแหล่งที่มาของเงินทุนเพิ่มเติม ทำให้สามารถบริหารจัดการงบประมาณไปใช้สำหรับโครงการอื่นๆ
- สามารถใช้งานสินทรัพย์ของภาครัฐให้เกิดประโยชน์มากขึ้น
ภาคเอกชน
- เพิ่มช่องทางและโอกาสการดำเนินธุรกิจให้กับภาคเอกชน
- สนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศโดยส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมดำเนินงานในกิจการของรัฐ
ประชาชน
- ได้รับการบริการที่มีประสิทธิภาพในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม
แนวทางการให้เอกชนมีส่วนร่วมดำเนินงานในกิจการของรัฐ
การให้เอกชนมีส่วนร่วมดำเนินงานในกิจการของรัฐ (PPP) สามารถทำได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับระดับการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน โดยอาจให้ภาคเอกชนมีความรับผิดชอบครอบคลุมงานทั้งหมด (เช่น ออกแบบ ก่อสร้าง จัดหาเงินทุน ดำเนินการ บำรุงรักษา) หรือเฉพาะการดำเนินงานบางส่วน ตามความเหมาะสมของแต่ละโครงการและการแบ่งรับความเสี่ยงระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนในแต่ละด้าน
ตามนิยามสากล แนวทางการให้เอกชนมีส่วนร่วมดำเนินงานในกิจการของรัฐ แบ่งออกได้เป็น 3 รูปแบบหลัก คือ
1. สัญญาจ้างให้บริหารและบำรุงรักษา (Management and Maintenance Contracts)
- เป็นการจ้างเอกชนที่เป็นมืออาชีพให้บริหารงานครอบคลุมภารกิจต่างๆ ที่ปกติภาครัฐเป็นผู้ดำเนินการ หรือการจ้างเอกชนให้บำรุงรักษาโครงการตามตัวชี้วัดเชิงคุณภาพผลงาน (Performance Indicators) ที่ภาครัฐกำหนด
- โดยทั่วไปจะมีอายุสัญญายาวนานกว่าสัญญาจ้างทำงานหรือจ้างให้บริการรูปแบบดั้งเดิม (เช่น 2-5 ปี)
- ภาครัฐจ่ายเงินให้แก่ผู้รับจ้างในอัตราคงที่ หรืออัตราแปรผันตามผลการดำเนินงาน เพื่อจูงใจให้เอกชนดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ
- ภาครัฐยังคงความเป็นเจ้าของโครงการและรับผิดชอบการลงทุน รวมทั้งการตัดสินใจปรับปรุงโครงการในอนาคต
2. สัมปทานให้ดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance Concessions)
- เป็นการให้สัมปทานเอกชนเข้ามาดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการของภาครัฐที่ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา
- เป็นรูปแบบสัมปทานสำหรับโครงการที่มีอยู่แล้ว (Brownfield)
- เอกชนจัดเก็บรายได้จากการให้บริการ และจ่ายเงินค่าสัมปทาน
- ค่าเช่าโครงการ หรือส่วนแบ่งรายได้ให้แก่รัฐ
- อายุสัญญาไม่เกิน 30 ปี ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
- ภาครัฐยังคงความเป็นเจ้าของโครงการ แต่การตัดสินใจปรับปรุงโครงการในอนาคตอยู่ที่ภาคเอกชน
3. สัมปทานให้ก่อสร้าง ดำเนินงาน และบำรุงรักษา (BOT-type of Concessions)
- เป็นการให้สัมปทานเอกชนรับผิดชอบดำเนินการตั้งแต่ การออกแบบ ก่อสร้าง จัดหาแหล่งเงินทุน ดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการ ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา
- เป็นรูปแบบสัมปทานสำหรับโครงการใหม่ (Greenfield)
- เอกชนจัดเก็บรายได้จากการให้บริการ (User fee) หรือรับค่าตอบแทนจากภาครัฐตามผลผลิตหรือการบริการที่ส่งมอบ (Availability Payment)
- กรณีเอกชนมีรายได้จากการให้บริการ อาจจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้แก่รัฐ
- มีชื่อเรียกต่างๆ ตามขอบเขตความรับผิดชอบของเอกชนและเงื่อนไขสัญญา เช่น Build Operate Transfer (BOT), Build Transfer Operate (BTO), Design Build Finance Operate (DBFO) เป็นต้น
- ความเป็นเจ้าของทรัพย์สิน ขึ้นอยู่กับรูปแบบของสัญญาสัมปทาน
ตัวอย่างของแนวทางการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนและบริหารจัดการทางหลวง
- การลงทุนก่อสร้างและบริหารจัดการโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง
- การลงทุนและบริหารจัดการจุดพักรถหรือศูนย์บริการทางหลวง
- การจ้างบำรุงรักษาทางตามคุณภาพผลงาน (Performance Based Contract for Road Maintenance)
- การจ้างบำรุงรักษาป้ายและเครื่องหมายจราจรตามคุณภาพผลงาน (Performance Based Contract for Traffic Control Devices)
- การจ้างบริหารจัดการระบบงานบริการบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง
- การจ้างบริหารจัดการด่านชั่งน้ำหนักถาวร
การประเมินความคุ้มค่าทางการเงิน (Value for Money)
- การประเมินความคุ้มค่าทางการเงิน (Value for Money, VfM) เป็นกระบวนการวิเคราะห์เปรียบเทียบต้นทุนของการให้เอกชนร่วมดำเนินงาน (PPP) กับต้นทุนของรูปแบบที่ภาครัฐดำเนินการเองทั้งหมด (Public Sector Comparator, PSC) ตลอดอายุโครงการ
- เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้หน่วยงานเจ้าของโครงการใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาตัดสินใจว่าควรให้เอกชนร่วมดำเนินงานหรือไม่
- การให้เอกชนเข้าร่วมดำเนินงาน (PPP) จะถือว่ามีความคุ้มค่าทางการเงิน หากมีต้นทุน “ต่ำกว่า” รูปแบบที่ภาครัฐดำเนินการเองทั้งหมด
- การประเมินความคุ้มค่าทางการเงิน (VfM) สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์โครงการได้ตลอดช่วงของการดำเนินการโครงการในขั้นตอนต่างๆ เช่น
1) ช่วงการเสนอโครงการ – หน่วยงานเจ้าของโครงการจะต้องศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการ และประเมินเปรียบเทียบต้นทุนกรณีภาครัฐดำเนินการเองทั้งหมดกับกรณีให้เอกชนร่วมดำเนินงาน เพื่อประกอบการตัดสินใจการให้เอกชนร่วมดำเนินงาน
2) ช่วงการคัดเลือกเอกชน – หน่วยงานเจ้าของโครงการสามารถนำไปใช้ประเมินข้อเสนอของเอกชนแต่ละราย เพื่อพิจารณาหาว่าข้อเสนอของเอกชนรายได้มีต้นทุนที่ต่ำที่สุดและความคุ้มค่ามากที่สุด
3) ช่วงการกำกับดูแลและติดตาม - หน่วยงานเจ้าของโครงการสามารถนำไปปรับใช้ในการเปรียบเทียบต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงกับที่ประมาณการไว้
ระเบียบและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
- พระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556
แผนการให้เอกชนร่วมลงทุนพัฒนาและบริหารจัดการทางหลวง
ปัจจุบัน กรมทางหลวงอยู่ระหว่างการพิจารณาให้เอกชนร่วมลงทุนพัฒนาและบริหารจัดการทางหลวง ดังต่อไปนี้
- การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง
- การว่าจ้างเอกชนสำหรับงานบริการบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เช่น การเก็บค่าธรรมเนียม การอำนวยการจราจร
- การลงทุนพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทางบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง
- การลงทุนพัฒนาและบริหารจัดการจุดพักรถบรรทุก