งานเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวง
ความเป็นมา
กรมทางหลวงรับผิดชอบและดูแลทางหลวงแผ่นดินทั่วประเทศกว่า 50,000 กิโลเมตร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเส้นทางสายหลักเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างภาค และระหว่างจังหวัด บางสายทางมีความชำรุดเสียหายมากเกินกว่าที่จะดูแลรักษาสภาพทางให้ใช้งานได้ดี และมีความจำเป็นเร่งด่วนต้องดำเนินการบูรณะก่อสร้างปรับปรุงแก้ไขใหม่เพื่อให้การเดินทางเป็นไปอย่างราบรื่นและสะดวกปลอดภัย แต่หากต้องรอเสนอของบประมาณเพื่อบรรจุเป็นโครงการใหญ่ต้องใช้ระยะเวลามาก เนื่องจากมีขั้นตอนหลายขั้นตอนตั้งแต่การสำรวจออกแบบ และเสนอของบประมาณค่าก่อสร้าง ซึ่งไม่ทันการต่อการแก้ไขปัจจุบันเร่งด่วน แต่หากดำเนินการแก้ไขตามงบประมาณที่ได้รับ ก็จะแก้ไขได้เฉพาะช่วงวิกฤตเสียหายเท่านั้น ทำให้ขาดความต่อเนื่องของโครงการ นอกจากนี้หากก่อสร้างหลายครั้งจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อการจราจรระหว่างการก่อสร้าง การดำเนินกิจการสองข้างทาง และผลกระทบต่อจิตใจของประชาชน ดังนั้นการดำเนินการปรับปรุงครั้งเดียวให้ครอบคลุมปัญหาแบบเบ็ดเสร็จ เป็นวิธีการหนึ่งที่มีความเหมาะสมอย่างยิ่ง
โครงการเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวง เป็นโครงการหนึ่งที่สามารถตอบสนองการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ มีลักษณะการปรับปรุงและก่อสร้างครอบคลุมลักษณะงานโครงการใหญ่ทั้งหมด แต่จะดำเนินการเฉพาะเส้นทางที่มีความเหมาะสมและจำเป็นเท่านั้น โดยเน้นการแก้ไขปัญหาด้านการจราจรและด้านสังคม บนสายทางที่ชำรุดเสียหายหนักเป็นหลัก ในลักษณะโครงการที่มีรูปแบบเบ็ดเสร็จ รายละเอียดลงลึกด้านการแก้ไขทางเรขาคณิต การปรับระดับความลาดชันของผิวทาง การปรับปรุงทางร่วมทางแยก การเพิ่มช่องทางแซง การเพิ่มขยายคันทางพร้อมระบบระบายน้ำตลอดสองข้างทาง เพื่อป้องกันปัญหารุกล้ำเขตทางหลวง และใช้เทคนิคอันทันสมัยเข้าอำนวยความสะดวกในการก่อสร้างให้แล้วเสร็จโดยรวดเร็ว รวมทั้งคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพบรรลุเป้าหมายสูงสุด คุ้มค่าต่อการลงทุน เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนโดยรวม
1. วัตถุประสงค์
1. เพื่อปรับปรุงทางหลวง ให้สามารถอำนวยความสะดวกและปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้เส้นทางหลัก และเส้นทางสายสำคัญ
2. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวง และเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งทางหลวงสายหลักและเส้นทางสายสำคัญ ทำให้ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย ตลอดจนช่วยลดอุบัติเหตุในการเดินทาง
3. เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนผู้ใช้เส้นทาง และประชาชนสองข้างทางทำให้ได้รับความสะดวกและความปลอดภัย
4. เพื่อดำเนินการแก้ไขปรับปรุงหรือยกระดับมาตรฐานทางหลวง ให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง
5. เพื่อเป็นการส่งเสริมความเข้มแข็ง และพัฒนาพื้นที่เพิ่มบทบาทการพัฒนาทางหลวง และส่งเสริมการท่องเที่ยว
2. หลักเกณฑ์ในการพิจารณา
1. เป็นโครงข่ายทางหลวงสายหลักและสายสำคัญที่มีปริมาณการจราจร สูงกว่า 3,000 คัน/วัน
2. เป็นเส้นทางที่มีอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ที่มีความจำเป็นต้องรีบแก้ไขเพื่อลดจุด อันตราย และเพิ่มความปลอดภัยของประชาชนทั้งผู้อยู่อาศัย และผู้ใช้เส้นทาง
3. เป็นเส้นทางที่มีเปอร์เซ็นต์การจราจร รถบรรทุกตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไป เฉลี่ยสูงกว่า 10% หรือมีจำนวนโค้งแนวราบ และ/หรือ แนวดิ่งมาก
4. เป็นเส้นทางที่มีย่านชุมชนต่อเนื่องยาวหรือจุดตัดทางแยกหลายแห่งอยู่ใกล้กัน ทำให้การจราจรติดขัด
5. เป็นเส้นทางที่ส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยวหลักของประเทศ และเพิ่มศักยภาพการพัฒนาพื้นที่
6. เป็นเส้นทางที่ไม่จำเป็นต้องดำเนินการก่อสร้างใหม่ตลอดแนวเส้นทาง แต่มีสภาพปัญหาเป็นบางแห่งเท่านั้น
7. เส้นทางที่ขอปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวง จะต้องไม่กระทบต่อพื้นที่ที่มีปัญหาด้านกฎหมายและสิ่งแวดล้อม
8. เป็นโครงการที่สามารถก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี
3. แนวคิดในการพิจารณารูปแบบการก่อสร้าง
ควรดำเนินการภายใต้แนวคิด 7 ด้าน หรือจะรวมแนวคิดหลาย ๆ ด้านเข้าด้วยกัน ดังนี้
1. การปรับปรุงเพิ่มมาตรฐานทางเดิม : เป็นการปรับปรุงเพิ่มมาตรฐานของชั้นทางเดิมให้เหมาะสม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้น
2. การปรับปรุงบริเวณที่มีย่านชุมชนหนาแน่น : เป็นการปรับปรุงทางหลวงและระบบสาธารณูปโภคภายในเขตทางหลวง เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตชุมชนหรือขยายทางหลวงให้เดินทางสะดวก ระหว่างชุมชนกับชุมชน
3. การปรับปรุงบริเวณทางแยกทางร่วมต่าง ๆ : เป็นการปรับปรุงให้สอดคล้องและรองรับกับเส้นทางสายหลัก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแก้ไขความแออัดของการจราจรบริเวณทางแยก
4. การแก้ไขทางหลวงด้านเรขาคณิต : เป็นการปรับปรุงแก้ไขคุณลักษณะทางกายภาพของถนนเพื่อเพิ่มความปลอดภัยและลดความเสี่ยงในการใช้เส้นทาง
5. การปรับปรุงเพิ่มช่องทางการแซง (Passing Lane) : เป็นการปรับปรุงเส้นทางในช่วงที่มีปริมาณการจราจรหนาแน่น ให้ได้รับความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัยยิ่งขึ้น
6. การปรับปรุงเพิ่มช่องทางสำหรับรถบรรทุกหนัก : (Climbing Lane) เป็นการปรับปรุงเส้นทางในช่วงที่เป็นทางลาดชัน และเนินเขา ให้รถบรรทุกสามารถวิ่งหลีกทางให้รถที่สามารถใช้ความเร็วผ่านไปได้อย่างสะดวกและปลอดภัย
7. การปรับปรุงทางหลวงเป็น 4 ช่องจราจรแบบประหยัด : เป็นการปรับปรุงขยายและเพิ่มช่องจราจรในเส้นทางช่วงที่มีการจราจรหนาแน่น เกินขีดความสามารถในการให้บริการของเส้นทางเดิมจะสามารถรองรับได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้เป็นทางขนาด 4 ช่องจราจร โดยใช้เกาะสีเป็นตัวแบ่งทิศทางการจราจร
4. ขั้นตอนการดำเนินงานโครงการเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวง
5. รายละเอียดขั้นตอนการดำเนินงาน
ตามอนุมัติ อทล. ลงวันที่ 17 ก.พ. 2552 ต่อท้ายบันทึกสำนักวางแผนที่ สผ.1.5/508 ลงวันที่ 11 ก.พ. 2552
1. มอบอำนาจการออกประกาศประกวดราคาให้สำนักทางหลวงเป็นผู้ดำเนินการ
2. สำนักทางหลวงดำเนินการสำรวจและออกแบบ
3. สำนักทางหลวงจัดทำแผนรายประมาณการส่งสำนักแผนงานเพื่อตรวจสอบ และพิจารณาเห็นชอบแผนรายประมาณการ
4. สำนักทางหลวงดำเนินการประกวดราคาตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จให้สำนักทางหลวงรวบรวมเอกสารต่างๆ ส่งสำนักแผนงานเพื่อพิจารณาและเสนอขออนุมัติรับราคา พร้อมจัดส่งรายชื่อคณะกรรมการตรวจการจ้างและผู้ควบคุมงาน เฉพาะในส่วนที่สำนักทางหลวงรับผิดชอบให้สำนักแผนงานพิจารณาเสนอขอแต่งตั้งต่อไป
4.1 คณะกรรมการตรวจการจ้าง (จำนวน 5 คน)
- ประธานกรรมการตรวจการจ้าง พิจารณาตำแหน่งจาก
รทว. , รทบ. , วญผ. , วญจ. , วญบ.
- กรรมการตรวจการจ้าง ประกอบด้วย
ผส.ทล. / รส.ทล.
ผอ.ขท. / ผอ.บท.
เจ้าหน้าที่สำนักแผนงาน
เจ้าหน้าที่สำนักทางหลวง
4.2 ผู้ควบคุมงาน ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ของสำนักทางหลวง / แขวงการทาง /
สำนักงานบำรุงทาง
5. แขวงการทาง/สำนักงานบำรุงทาง เป็นผู้จัดทำและลงนามในสัญญาจ้าง
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |