งานปรับปรุงทางหลวงผ่านย่านชุมชน
กิจกรรมปรับปรุงทางหลวงผ่านย่านชุมชน กรมทางหลวงได้ให้ความสำคัญในการพัฒนา บริเวณที่ผ่านย่านชุมชนซึ่งมีประชาชนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น วัตถุประสงค์ของโครงการคือ การเพิ่มประสิทธิภาพการสัญจรในบริเวณย่าน โดยจะคำนึงถึงทั้งปริมาณการจราจรที่เดินทางในชุมชน และที่เดินทางผ่านย่านชุมชน ให้ได้รับความสะดวกปลอดภัยในการสัญจรภายในชุมชนด้วย
ทั้งนี้ เพื่อลดปัญหาการเกิดอุบัติเหตุ ลดฝุ่นละออง ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่ และแก้ไขปัญหาของการจราจรผ่านย่านชุมชนนั้น ๆ ในรูปแบบของการขยายคันทางหรือการแก้ไขปัญหา ระบบระบายน้ำ ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง รวมทั้งการจอดรถไม่เป็นระเบียบ ให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ในการจราจรผ่านย่านชุมชน
ซึ่งการเลือกลักษณะและรูปแบบของการดำเนินงานนั้น จะพิจารณาตามความเหมาะสมเป็นแห่งๆ ไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ดังต่อไปนี้
- ลักษณะและหน้าที่ (Function) ของทางหลวงสายนั้น ว่าเป็นทางหลวงสายหลัก หรือทางหลวงสายรอง ในกรณีที่เป็นทางหลวงสายหลักที่มีปริมาณจราจรหนาแน่น และใช้ความเร็วสูงในการเดิน อาจมีความจำเป็นต้องก่อสร้างทางคู่ขนานทางหลัก (Frontage Road) เพื่อแบ่งแยกปริมาณจราจรในท้องถิ่น (Local Traffic) ออกจากปริมาณจราจรผ่านเมือง (Through Traffic) เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุรุนแรง
- ลักษณะการดำรงชีวิตของประชาชน ความหนาแน่นของชุมชน และสถานที่สำคัญต่างๆ
- สภาพปัญหาในพื้นที่ อาทิเช่น ปัญหาการระบายน้ำ การจอดรถกีดขวางการจราจร การลุกล้ำเขตทาง ปัญหาคนเดินเท้า เป็นต้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่กำหนดองค์ประกอบต่างๆ ของทางหลวง เพื่อให้สามารถบรรเทาปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ เช่น ระบบระบายน้ำ สะพานลอยคนเดินข้าม สัญญาณไฟ และป้ายจราจรต่างๆ
- ความกว้างเขตทาง (Right of Way) ซึ่งจะมีผลต่อการเลือกรูปแบบของการปรับปรุง อันได้แก่ จำนวนช่องจราจร ความกว้างช่องจราจร ไหล่ทาง และทางเท้า ที่เหมาะสม
- ปริมาณจราจร ข้อมูลสถิติการเกิดอุบัติเหตุ และความต้องการของชุมชน
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการปรับปรุงทางหลวงผ่านย่านชุมชนนี้ จะต้องสอดคล้อง ไม่ซ้ำซ้อนกับโครงการอื่นๆ ของกรมทางหลวง ได้แก่ งานซ่อมบำรุงทาง งานโครงการใหญ่ เป็นต้น เป็นการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงให้สมบูรณ์อย่างเป็นระบบ ใช้งบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |