เว็บไซต์ทางหลวง ติดต่อสำนัก เข้าระบบ

งานเพิ่มศักยภาพทางหลวงสายรอง

โครงการเพิ่มศักยภาพในการเดินทางบนทางหลวงสายรอง

ความเป็นมา

              งานก่อสร้างทางหลวงในปัจจุบัน  สามารถแบ่งประเภทของงานก่อสร้างหลัก ๆ ออกเป็น 3งานหลัก ๆ ได้แก่  งานก่อสร้างทางหลวงขนาดใหญ่ งานก่อสร้างขนาดเล็ก และงานดำเนินการเอง โดย งานก่อสร้าง    ขนาดใหญ่เป็นงานก่อสร้างที่มีวงเงินผูกพันงบประมาณหลายปี  และเป็นการก่อสร้างในโครงข่ายสายหลักของประเทศ  เช่น การก่อสร้างทางสายหลักเป็นทางหลวงขนาด 4 ช่องจราจร การก่อสร้างสะพานข้าม     แม่น้ำโขง เป็นต้น  งานก่อสร้างขนาดเล็กเป็นงานก่อสร้างที่มุ่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่แต่ใช้งบประมาณไม่มากนัก  สามารถดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 1 ปี  ไม่ผูกพันงบประมาณ  ส่วนงานดำเนินการเองเป็นงานก่อสร้างที่ดำเนินการก่อสร้างโดยศูนย์สร้างทางและศูนย์สร้างและบูรณะสะพาน  ลักษณะโครงการที่ดำเนินการเป็นโครงการต่อเนื่องที่ได้รับงบประมาณเป็นปีๆจนกว่าโครงการจะแล้วเสร็จ โดยมุ่งก่อสร้างในโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนหรือต้องการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น เช่น งานที่ผู้รับจ้างทิ้งงานแก้ไขปัญหาทางหลวงที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติต่างๆ เป็นต้น

              โครงการเพิ่มศักยภาพในการเดินทางบนทางหลวงสายรองจะเป็นทางเลือกใหม่ที่สามารถตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาในภาพรวม เพื่อให้การเดินทางตลอดเส้นทางของประชาชนสามารถเดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยอย่างแท้จริง กล่าวคือ ผู้ใช้เส้นทางสามารถเดินทางได้อย่างต่อเนื่องไม่ติดขัดและมีความปลอดภัย โดยหลักของการแก้ปัญหาของโครงการนี้ เป็นการแก้ไขปัญหาตามสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นตลอดเส้นทางและนำวิธีการแก้ปัญหาต่างๆตามหลักวิศวกรรมมาใช้แก้ไขปัญหาให้มีความสอดคล้องและผสมผสานกันในภาพรวมตลอดโครงการ ทำให้สามารถประหยัดงบประมาณในการก่อสร้างได้เพิ่มมากขึ้นโดยการออกแบบในโครงการนี้จะทำให้ศักยภาพของการเดินทางมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  ส่งผลให้ผู้ใช้เส้นทางสามารถเดินทางได้อย่างต่อเนื่องไม่ติดขัดและมีความปลอดภัยตลอดโครงการ ทั้งนี้จะมุ่งเน้นพัฒนาโครงข่ายทางหลวงสายรองที่เชื่อมโยงระหว่าง อำเภอ หรือชุมชนสำคัญในแต่ละจังหวัด  อีกทั้งยังเป็นโครงข่ายที่เชื่อมโยงหรือสนับสนุนโครงข่ายสายหลัก โดยกระจายอยู่ทุกภูมิภาค ซึ่ง ทางหลวงสายรองเหล่านี้ หากได้รับการพัฒนาให้มีสภาพดีหรือเพิ่มมาตรฐานในระดับหนึ่งก็จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพของเส้นทางนั้นๆ ให้เป็นโครงข่ายทางหลวงที่สามารถรองรับปริมาณการจราจรจาก การท่องเที่ยวการขนส่งสินค้า การสัญจรระหว่างชุมชนต่างๆ

              การดำเนินการโครงการดังกล่าวจะสามารถรองรับยุทธศาสตร์การพัฒนา  ทั้งระดับจังหวัด ระดับประเทศ  และคำนึงถึงความต้องการของประชาชนผู้ใช้เส้นทางเป็นหลัก ทำให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ การส่งเสริมด้านเศรษฐกิจการค้า การท่องเที่ยว และยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนดียิ่งขึ้น

วัตถุประสงค์

              1.  เพิ่มประสิทธิภาพของโครงข่ายทางหลวงทั่วประเทศโดยรวม

              2.  ประหยัดเวลาและลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

              3.  สามารถเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ ส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยว

              4.  การเดินทางได้รับความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัย

              5.  เพื่อรองรับยุทธศาสตร์การพัฒนาของจังหวัดและประเทศ

หลักเกณฑ์ในการเสนอโครงการ ข้อใดข้อหนึ่ง

              1.  เป็นโครงข่ายถนนสายรองที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวระดับประเทศ

              2.  เป็นโครงข่ายถนนสายรองที่ส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

              3.  เป็นโครงข่ายถนนสายรองที่เชื่อมโยงและสนับสนุนการเดินทางของถนนสายหลัก

              4.  เป็นโครงข่ายถนนสายรองที่เชื่อมโยงการเดินทางของประชาชนระหว่างชุมชนขนาดใหญ่หรือเชื่อมต่อการเดินทางไปยังสถานที่สำคัญระดับประเทศ

ระยะเวลาดำเนินการ  ดำเนินการ ปี พ.ศ. 2559 – 2563

แนวคิดการออกแบบ

              หลักการของการออกแบบโครงการนี้ก็คือ ให้รถทางตรงเดินทางได้อย่างสะดวกต่อเนื่องไม่ติดขัด  และยอมให้เกิดการตัดกันของกระแสจราจรน้อยที่สุด รวมถึงรถทางรองและผู้เดินเท้าก็สามารถเดินทางได้อย่างปลอดภัยเช่นเดียวกัน ซึ่งผู้ออกแบบสามารถออกแบบทั้งการปรับปรุงลักษณะทางกายภาพและการติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยเพิ่มเติมได้  หากเป็นทางหลวงที่อยู่ในย่านชุมชนสามารถออกแบบระบบระบายน้ำหรือออกแบบเพื่อแก้ไขปัญหาอื่นในชุมชน รวมทั้งการก่อสร้างทางจักรยานได้แต่ทางจักรยานจะต้องไม่รวมกับถนนหลัก การออกแบบโครงการนี้สามารถดำเนินการออกแบบช่องจราจรเพื่อการแซง การปรับและแก้ไขปัญหาถนนเสียรูปที่ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัย การปรับปรุงทางแยก เป็นต้น

การเตรียมความพร้อมโครงการ

              โครงการที่มีความจำเป็นและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และหลักเกณฑ์การพิจารณาข้างต้น จะต้องดำเนินการเตรียมความพร้อมโครงการให้เรียบร้อย กล่าวคือการแก้ไขปัญหาด้านการติดขัดการก่อสร้าง ทั้งระบบสาธารณูปโภค การติดขัดด้านต้นไม้ในเขตทางหลวง เป็นต้น รวมทั้งมีการประชาสัมธ์โครงการเบื้องต้นให้ประชาชนในพื้นที่ทราบ  เพื่อรับฟังความเห็นคิดเห็นและผลสะท้อนของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียของโครงการ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับการดำเนินการก่อสร้างในภายหลัง

              เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการก่อสร้างขนาดกลาง เพราะฉะนั้นการเตรียมการด้านการออกแบบก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายและระยะเวลาดำเนินการก่อสร้าง จึงควรมีการออกแบบให้เสร็จก่อนเสนอขอตั้งงบประมาณ

กลับสู่ด้านบน