เว็บไซต์ทางหลวง ติดต่อสำนัก เข้าระบบ

งานก่อสร้างสะพาน ท่อลอด อุโมงค์

กิจกรรมก่อสร้างสะพาน  และท่ออุโมงค์  คสล.       เป็นการก่อสร้าง  บูรณะปรับปรุงสะพาน  และท่ออุโมงค์ คสล.  ขนาดเล็ก  ให้ได้มาตรฐานสอดคล้องกับมาตรฐานของทางหลวง  ให้มีโครงสร้างแข็งแรง  ปลอดภัย   ขนาดเหมาะสม  สวยงาม  สามารถอำนวยความสะดวก  รวดเร็ว และ ปลอดภัยในการเดินทางได้   ทั้งนี้อาจรวมถึงการดำเนินงานในลักษณะอื่นๆ ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่  ป้องกันการเกิดปัญหาน้ำท่วมขัง  อาทิเช่น  การก่อสร้างรางระบายน้ำถาวร  งานขุดลอกลำรางสาธารณะ  งานป้องกันการกัดเซาะคอสะพาน  งานยกระดับคันทาง  เป็นต้น   สามารถแบ่งประเภทของการดำเนินงานได้ดังนี้

               1.  งานก่อสร้าง บูรณะปรับปรุงสะพาน

                     1.1  งานก่อสร้างสะพานใหม่  ทดแทนอาคารระบายน้ำเดิม  ซึ่งอาจเป็นท่อเหลี่ยม คสล. ที่มีขนาดเล็กไม่เพียงพอต่อการระบายน้ำ  หรือ  สะพานเดิมที่ชำรุดเสียหายเกินกว่าการซ่อมแซม

                     1.2  งานต่อความยาวสะพาน  ในกรณีที่ร่องน้ำกว้างขึ้นเนื่องจากการขุดลอก  หรือการกัดเซาะของน้ำซึ่งทำให้แนวร่องน้ำเปลี่ยนแปลงไป

                     1.3  งานขยายความกว้างสะพาน  ในกรณีสะพานมีความกว้างน้อยกว่าความกว้างผิวทาง  ซึ่งได้รับการปรับปรุงโดยกิจกรรมอื่นๆ  ของกรมทางหลวง  เพื่อให้มีความกว้างสอดคล้องกับผิวทาง  ลดความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุ

                     1.4  งานอื่นๆ ได้แก่  งานซ่อมพื้นสะพาน  โครงสร้าง  ตอม่อ  งานก่อสร้างลาดคอนกรีตป้องกันการกัดเซาะคอสะพาน  เป็นต้น

               2.  งานก่อสร้างท่ออุโมงค์ คสล.

                     2.1  งานวางท่อกลม คสล.  หรือ ก่อสร้างท่อเหลี่ยม คสล.  ขนาดตามความเหมาะสม  ในพื้นที่ที่ไม่มีท่อระบายน้ำตามขวาง  (Cross Drain)  เพื่อป้องกันน้ำไหล่ข้ามคันทาง  และกัดเซาะคันทาง/ผิวทางชำรุดเสียหาย

                     2.2  งานวางท่อกลม คสล.  เพิ่มเติม (เพิ่มจำนวนแถว)  เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ

                     2.3  งานก่อสร้างท่อเหลี่ยม คสล.  แทนท่อกลม คสล.  หรือท่อเหลี่ยม คสล.  เดิมซึ่งมีขนาดเล็กไม่เพียงพอต่อการระบายน้ำ

                     2.4  งานต่อความยาวท่อกลม หรือท่อเหลี่ยม คสล.  ตามสภาพพื้นที่ ร่องน้ำ  หรือความกว้างของคันทางที่เปลี่ยนไปเนื่องจากการก่อสร้างขยายคันทาง

               3.  งานอื่นๆ

                     3.1  งานก่อสร้างรางระบายน้ำถาวร สองข้างทาง  (Longitudinal Drain)  เพื่อระบายน้ำในพื้นที่ไปยังลำรางสาธารณะในบริเวณใกล้เคียง  เพื่อไม่ให้น้ำท่วมขังสองข้างทาง  อาจเป็นได้ทั้งระบบปิด (มีฝาปิด หรืออยู่ใต้ทางเท้า)  หรือระบบเปิดงานขุดลอกลำรางสาธารณะสองข้างทาง  เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ  ลดปัญหาน้ำท่วมขัง

                     3.2  งานก่อสร้างระบบระบายน้ำในบริเวณย่านชุมชน  ซึ่งประกอบด้วย  บ่อพัก และรางระบายน้ำ คสล. ระบบปิด

                     3.3  งานก่อสร้างลาดคอนกรีตปากท่อ  เพื่อป้องกันการกัดเซาะคันทางโดยน้ำที่ไหลออกจากท่อ Cross Drain  ลงสู่พื้นที่รับน้ำสองข้างทาง

                     3.4  งานยกระดับคันทาง  เป็นการก่อสร้างยกระดับคันทางที่ต่ำกว่าระดับน้ำให้สูงขึ้น  เพื่อป้องกันน้ำไหลข้ามทาง  ป้องกันผิวทางชำรุดเสียหาย  และอำนวยความสะดวก ปลอดภัยในการเดินทาง

               สำหรับการเลือกลักษณะและรูปแบบในการก่อสร้างนั้น  จะต้องพิจารณาลักษณะอาคารระบายน้ำเดิม  ปริมาณน้ำสูงสุด  และความสามารถในการระบายน้ำในพื้นที่  ปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เป็นสำคัญ   ทั้งนี้รูปแบบ  เช่น  ความกว้างของสะพาน  จะต้องสอดคล้องกับมาตรฐานของทางหลวงสายนั้นๆ

กลับสู่ด้านบน