ครม. ไฟเขียวมอเตอร์เวย์ 3 สายรวด วงเงิน 1.6 แสนล้านบาท

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 14 ก.ค.2558 อนุมัติโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ จำนวน 3 เส้นทาง วงเงินลงทุนรวม 160,400 ล้านบาท แยกเป็น
1.สายพัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง 32 กม. เงินลงทุน 20,200 ล้านบาท จะเริ่มประมูลปลายปี 2558-ต้นปี 2559 กำหนดแล้วเสร็จปี 2561 จะใช้เงินกองทุนมอเตอร์เวย์ก่อสร้าง จำนวน 14,200 ล้านบาท ส่วนค่าเวนคืนที่ดิน 6,000 ล้านบาทจะใช้เงินงบประมาณ ในปี 2558 มีผูกพันไว้แล้วจำนวน 1,400 ล้านบาท 2.สายบางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กม.เงินลงทุน 84,600 ล้านบาท และ3.สายบางใหญ่-บ้านโป่ง-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กม. เงินลงทุน 55,620 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 สายนี้ทางกระทรวงการคลังจะไปจัดหาเงินกู้ให้กรมทางหลวงมาดำเนินการ คาดว่าจะเริ่มประมูลปี 2559 ก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2562
“หลังครม.อนุมัติแล้ว กรมทางหลวงซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบจะใช้เวลาประมาณ 4-6 เดือนสำหรับจัดทำทีโออาร์ประมูลก่อสร้าง แต่สิ้นปีนี้น่าจะมีสายพัทยา-มาบตาพุดที่จะเริ่มออกประกาศประมูลได้ก่อนเป็นสายแรก “
ทั้งนี้ พล.อ.อ.ประจิน ยอมรับว่า โครงการต่างๆของกระทรวงคมนาคมที่เสนอเข้าสู่ที่ประชุมครม.เพื่อขอการอนุมัติโครงการ อาจจะยังไม่มีโครงการไหนสามารถประมูลได้ทันในปีนี้ เนื่องจากต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ ก่อนถึงจะดำเนินการได้ทำให้เปิดประมูลก่อสร้างล่าช้าไปจากแผนเดิมคาดว่าจะเริ่มได้ในปี 2558 ตะขยับไปเป็นปี 2559
อย่างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู(แคราย-มีนบุรี)สายสีเหลือง(ลาดพร้าว-สำโรง)และสายสีส้ม(ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี)จะปรับแผนการเปิดประมูลไปเป็นไตรมาสที่2ของปี 2559
นายชูศักดิ์ เกวี อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.)กล่าวว่า การเปิดประมูลมอเตอร์เวย์ 3 สายทาง จะแบ่งสัญญาก่อสร้างเป็นหลายสัญญา เพื่อกระจายงาน คาดว่าค่าก่อสร้างต่อสัญญาโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1,500-2,000 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรูปแบบการก่อสร้างและสภาพพื้นที่ เช่น ทางต่างระดับ เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา ของทางหลวง วงเงินลงทุนรวม 84,600 ล้านบาท ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ด้วยวิธีการประกวดราคาจ้างเหมาก่อสร้างวงเงินค่าก่อสร้าง 77,970 ล้านบาท โดยให้กระทรวงการคลัง (กค.) ดำเนินการระดมทุนจากแหล่งเงินทุนภายในประเทศที่เหมาะสม เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการ ทั้งนี้ ให้สำนักงบประมาณ (สงป.) จัดสรรงบประมาณเป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินของโครงการให้แก่กรมทางหลวง ตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป
สำหรับ โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-สระบุรี –นครราชสีมา เป็นทางแนวใหม่ตามมาตรฐานทางหลวงพิเศษขนาด 4 – 6 ช่องจราจร ระยะทางรวม 196 กิโลเมตร มีแนวเส้นทางเริ่มต้นต่อเชื่อมกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 (ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก) ที่ทางแยกต่างระดับ บริเวณบางปะอิน ผ่านอำเภอวังน้อย อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภอหนองแค อำเภอเมือง อำเภอแก่งคอย และอำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี อำเภอปากช่อง อำเภอสีคิ้ว อำเภอสูงเนิน อำเภอขามทะเลสอ และอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
โดยกรมทางหลวงได้ออกแบบให้มีการควบคุมการเข้าออกอย่างสมบูรณ์ มีด่านเก็บค่าผ่านทางระบบปิด (คิดตามระยะทาง) 9 แห่ง มีศูนย์บริการทางหลวง 1 แห่ง สถานีบริการทางหลวง (Service Area) 2 แห่ง และที่พักริมทางหลวง (Rest Area) 5 แห่ง ในตำแหน่งที่เหมาะสมตลอดแนวสายทาง ทั้งนี้ กรมทางหลวงได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการแล้วเสร็จเมื่อปี 2547
โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้พิจารณาเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2549 รวมทั้งกรมทางหลวงได้ดำเนินการสำรวจและออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จในปี 2551 สำหรับการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา ประกาศในราชกิจจานุกเบกษาเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2556 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2556
แหล่งข่าว: ประชาชาติธุรกิจ http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1436865861