เว็บไซต์ทางหลวง ติดต่อสำนัก เข้าระบบ

โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Intercity Motorway)

การพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับระบบการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของประเทศ เนื่องจากจะเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานหลักในการที่จะส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาประเทศ เสริมสร้างสมรรถนะทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตให้ยั่งยืน สนับสนุนการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคอย่างทั่วถึง เพิ่มศักยภาพในด้านการแข่งขันของประเทศ ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาเมืองในภูมิภาค ลดอุบัติเหตุและมลภาวะจากการเดินทางและขนส่งสินค้า 

ความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ลดระยะเวลาเดินทาง เพิ่มความตรงเวลา เป็นข้อดีอันโดดเด่นของการเดินทางด้วยระบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Intercity Motorway) ซึ่งจะเป็นหนึ่งในทางเลือกของรูปแบบการเดินทางและขนส่งสินค้าระหว่างจังหวัดหรือภูมิภาคของประเทศ หรือแม้แต่เชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน  โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2540 เห็นชอบในหลักการในการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง  (Inter-City Motorway) จำนวน 13 เส้นทาง เป็นระยะทาง 4,150 กิโลเมตร ใช้เงินลงทุน 472,360 ล้านบาท (มูลค่า ปี 2540) ระยะเวลาดำเนินการ 20 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2540 ถึง 2559 มีวัตถุประสงค์ ดังนี้

  1. เพื่อกำหนดโครงข่ายแผนการก่อสร้างทางหลวงที่มีมาตรฐานสูง เสริมสร้างสมรรถนะทางเศรษฐกิจให้ยั่งยืนในอนาคต
  2. เพื่อเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานหลักในการสนับสนุนนโยบายกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค
  3. เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีช่วยลดอุบัติเหตุและลดมลภาวะ
  4. เพื่อเป็นการสนับสนุนการพัฒนาเมืองหลักในภูมิภาค
ลักษณะโครงการและสถานะผลการดำเนินงาน 

แม้ว่าจะมีการกำหนดแผนแม่บทในการก่อสร้างทางหลวงพิเศษอย่างชัดเจน แต่การก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองแต่ละเส้นทางจำเป็นต้องใช้งบประมาณลงทุนค่อนข้างสูง ประกอบกับประเทศไทยต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแผนดังกล่าวไปในปีเดียวกัน จึงส่งผลให้การดำเนินการก่อสร้างล่าช้าและไม่เป็นไปตามแผน ปัจจุบันจึงมีทางหลวงพิเศษที่เปิดให้บริการเพียง 2 เส้นทาง รวมเป็นระยะทาง 146 กิโลเมตร ได้แก่

  1. ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายกรุงเทพฯ – ชลบุรี ระยะทาง 82 กิโลเมตร และ
  2. ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันออก
    (ช่วงบางปะอิน – บางพลี) ระยะทาง 64 กิโลเมตร 

อย่างไรก็ดี กรมทางหลวงได้วางยุทธศาสตร์การพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง โดยกำหนดแผนการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองในระยะเร่งด่วนที่มีลำดับความสำคัญสูง เชื่อมโยงระหว่างกรุงเทพมหานครไปยังภูมิภาคต่างๆ ที่มีปริมาณการเดินทางสูง ภายในรัศมี 250 กิโลเมตร จากกรุงเทพมหานคร ทั้งเส้นทางสู่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออกและภาคตะวันตก จำนวน 5 สายทาง ในช่วงปี 2556 – 2563 เพื่อเป็นเส้นทางคมนาคมประสิทธิภาพสูงเชื่อมโยงกรุงเทพมหานครและปริมณฑลไปยังภูมิภาคต่างๆ 

แผนการพัฒนาระบบโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองระยะเร่งด่วน 5 เส้นทาง 

โดยสามารถสรุปผลการดำเนินงานที่ผ่านมา และสถานะความพร้อมในปัจจุบัน (ณ 31 กรกฎาคม 2558) ดังนี้ 

  1. โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน – สระบุรี - นครราชสีมา ได้ผ่านกระบวนการศึกษาความเหมาะสม และสำรวจออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ ตลอดจนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้ผ่านความเห็นชอบ รวมถึง พ.ร.ฎ. เวนคืนที่ดินได้ผ่านความเห็นชอบและประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 26 เมษายน 2556 ปัจจุบันคณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 มีมติเห็นชอบให้กระทรวงคมนาคม (กรมทางหลวง) ดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน - สระบุรี - นครราชสีมา วงเงินลงทุนรวม 84,600 ล้านบาท ด้วยวิธีการประกวดราคาจ้างเหมาก่อสร้าง วงเงินค่าก่อสร้าง 77,970 ล้านบาท โดยให้กระทรวงการคลังดำเนินการระดมทุนจากแหล่งเงินทุนภายในประเทศที่เหมาะสมเพื่อใช้ในการดำเนินโครงการ และค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน วงเงิน 6,630 ล้านบาท ให้เป็นไปตามความเห็นชอบของสำนักงบประมาณ
  2. โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี ได้ผ่านกระบวนการศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ ตลอดจนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้ผ่านความเห็นชอบ รวมถึง พ.ร.ฎ. เวนคืนที่ดินได้ผ่านความเห็นชอบและประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 10 กันยายน 2556 ปัจจุบันคณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 มีมติเห็นชอบให้กระทรวงคมนาคม (กรมทางหลวง) ดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่ - กาญจนบุรี วงเงินลงทุนรวม 55,620 ล้านบาท ด้วยวิธีการประกวดราคาจ้างเหมาก่อสร้าง วงเงินค่าก่อสร้าง 50,200 ล้านบาท โดยให้กระทรวงการคลังดำเนินการระดมทุนจากแหล่งเงินทุนภายในประเทศที่เหมาะสมเพื่อใช้ในการดำเนินโครงการ และค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน วงเงิน 5,420 ล้านบาท ให้เป็นไปตามความเห็นชอบของสำนักงบประมาณ
  3. โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายพัทยา – มาบตาพุด ได้ผ่านกระบวนการศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ ส่วนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ สำหรับร่างพ.ร.ฎ. เวนคืนที่ดิน คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเห็นชอบในหลักการแล้ว เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2556 ปัจจุบันคณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 มีมติเห็นชอบให้กระทรวงคมนาคม (กรมทางหลวง) ดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายพัทยา - มาบตาพุด วงเงินลงทุนรวม 20,200 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าก่อสร้างและค่าควบคุมงานวงเงิน 14,200 ล้านบาท โดยใช้เงินทุนค่าธรรมเนียมผ่านทางตามแผนประมาณการรายจ่ายที่ขอตกลงกับกระทรวงการคลัง และค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน วงเงิน 6,000 ล้านบาท ให้เป็นไปตามความเห็นชอบของสำนักงบประมาณ
  4. โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายนครปฐม ชะอำ ได้ผ่านกระบวนการศึกษาความเหมาะสม  ตลอดจนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้ผ่านความเห็นชอบแล้ว รวมถึงขั้นตอนการสำรวจออกแบบรายละเอียดที่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ปัจจุบันกรมทางหลวงอยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการศึกษาแนวทางการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายนครปฐม - ชะอำ
  5.  โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน นครสวรรค์  ได้ผ่านกระบวนการศึกษาความเหมาะสมเป็นที่เรียบร้อย โดยปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

นอกจากนั้น กรมทางหลวงยังมีโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองเส้นทางอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมในขั้นตอนต่างๆ ได้แก่

  • โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง  สายหาดใหญ่ - ชายแดนไทย/มาเลเซีย
  • โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายกาญจนบุรี - ชายแดนไทย/เมียนมาร์ (บ.พุน้ำร้อน)
  • โครงการก่อสร้างถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครรอบที่ 3
  • โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต - บางปะอิน
  • โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 กรุงเทพ-ชลบุรี ตอน ทางยกระดับศรีนครินทร์-ลาดกระบัง
  • โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง  สายแหลมฉบัง - หนองคาย ตอน แหลมฉบัง-บรรจบทางหลวงหมายเลข 359 
  • โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง  สายชะอำ - ชุมพร
  • โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง  สายเชียงใหม่ - เชียงราย
  • โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายถนนวงแหวนกาญจนาภิเษกด้านตะวันตก - ทางแยกวังมะนาว (ทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35)
  • โครงการพัฒนาถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ช่วงบางบัวทอง - บางปะอิน 
  • โครงการก่อสร้างโครงข่ายเชื่อมต่อทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง บริเวณวงแหวนรอบนอกด้านเหนือ 

กลับสู่ด้านบน