โครงการก่อสร้างทางแนวใหม่

การคมนาคมขนส่งทางถนนถือเป็นกลไกขั้นพื้นฐานที่เชื่อมโยงระบบการผลิตและตลาดเข้าไว้ด้วยกัน ส่งเสริมการกระจายความเจริญและการพัฒนาออกสู่ภูมิภาคและชนบท ที่ผ่านมากรมทางหลวงได้มุ่งพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางถนนมาอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นระบบการขนส่งขั้นพื้นฐานที่มีความสะดวกรวดเร็ว และสามารถเข้าถึงจุดหมายปลายทางได้โดยตรง (หรือแบบ Door-to-Door) ด้วยตุผลดังกล่าวกรมทางหลวงจึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาโครงข่ายถนนให้ครอบคลุมพื้นที่อย่างสมบูรณ์ สามารถรองรับการเดินทางระหว่างภูมิภาค ตลอดจนการเชื่อมโยงระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน โดยในปัจจุบันกรมทางหลวงมีโครงข่ายทางในความดูแล 51,413 กิโลเมตร (ระยะทางจริง) ครอบคลุมทางหลวงแผ่น ทางหลวงพิเศษ และทางหลวงสัมปทาน
แต่เนื่องจากปัจจุบันการคมนาคมขนส่งในบางพื้นที่ของประเทศยังขาดความต่อเนื่อง การเดินทางระหว่างเมืองสำคัญ ในบางพื้นที่จำเป็นต้องใช้เส้นทางที่มีระยะทางไกลเกินความจำเป็น การพัฒนาทางหลวงแนวใหม่จึงเป็นการช่วยเชื่อมโยงโครงข่ายถนนให้มีความต่อเนื่องและคลอบคลุมพื้นที่มากยิ่งขึ้น เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งทางถนน ประหยัดเวลาในการเดินทาง และลดต้นทุนค่าขนส่งของประเทศ ดังนั้นกรมทางหลวงจึงดำเนินโครงการก่อสร้างทางแนวใหม่ โดยมีการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลต่อกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม ก่อนดำเนินการก่อสร้าง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ต่อเติมโครงข่ายการขนส่งการเดินทาง และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้ทางอย่างยั่งยืน
การก่อสร้างโครงข่ายทางหลวงที่ดีนั้นต้องครอบคลุมพื้นที่ตรงตามความต้องการของผู้ใช้ทาง มีประสิทธิภาพ สะดวก และปลอดภัย ซึ่งในตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันกรมทางหลวงได้ก่อสร้างโครงข่ายทางหลวงของประเทศไทยจนครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศแล้ว แต่การวางแผนพัฒนาระบบโครงข่ายทางหลวงยังจำเป็นต้องพิจารณาถึงปัจจัยหลายด้านประกอบกันเช่น ลำดับชั้นของทางหลวง รูปแบบของโครงข่ายทางที่เหมาะสมกับพื้นที่ รูปแบบและลักษณะความต่อเนื่องของโครงข่ายทาง และระดับการให้บริการบนโครงข่ายทาง ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยมีการวางระบบโครงข่ายทางหลวงระดับประเทศเป็นแบบแกนกระดูกงู (Spine Network) ซึ่งมีลักษณะมีถนนสายหลักเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคและกลุ่มจังหวัด และมีถนนสายรองแตกย่อยออกเป็นแขนงจากถนนสายหลักสู่พื้นที่ย่อยต่างๆ ซึ่งรูปแบบโครงข่ายลักษณะนี้มีความเหมาะสมกับพื้นที่จำกัดไปในทางกว้างหรือยาวอย่างใดอย่างหนึ่ง
โดยระบบโครงข่ายทางหลวงของประเทศไทยสามารถแบ่งเป็นลำดับชั้นของถนนออกเป็น ทางหลวงพิเศษ (เป็นทางหลวงที่เชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคและเมืองหลัก มีการควบคุมการเข้าออกเพื่อให้สามารถเดินทางได้ด้วยความเร็วสูง) ทางหลวงแผ่นดินสายประธาน (เป็นทางหลวงหลักในปัจจุบันที่เชื่อมโยงภูมิภาคและจังหวัดต่างๆ) ทางหลวงแผ่นดินสายรอง (เป็นทางหลวงที่เชื่อมโยงระหว่างอำเภอของแต่ละจังหวัด เป็นทางสายรองที่แยกออกจากทางหวงสายประธาน) และถนนท้องถิ่น (เป็นทางเพื่อการสัญจรของชุมชนในถ้องถิ่น) ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงลำดับชั้นทางดังกล่าว ประกอบกับการเติบโตของตัวเมืองอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณความต้องการในการเดินทางมีเพิ่มมากขึ้นไปด้วย การก่อสร้างถนนแนวใหม่เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ของโครงข่ายเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยกรมทางหลวงมีแผนงานโครงการก่อสร้างทางแนวใหม่ทีอยู่ระหว่างการพิจารณาและของบประมาณเพื่อดำเนินการในอนาคตดังนี้
- ทางหลวงหมายเลข 12 กาฬสินธุ์ - นาไคร้ - อ.คำชะอี
- ทางหลวงหมายเลข 33 ปราจีนบุรี - อ.กบินทร์บุรี (แนวใหม่)
- ทางหลวงเชื่อมต่อ อ.ปลายพระยา - อ.ทับปุด
- ทางหลวงหมายเลข 2115 กม.38+392 - สะพานมิตรภาพน้ำเหือง ไทย/สปป.ลาว