โครงการก่อสร้างเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวง

ปัจจุบันการใช้งานทางหลวงที่ไม่ได้เป็นไปตามรูปแบบฟังก์ชั่น (Highway Classification) ที่ออกแบบไว้ สาเหตุเกิดมาจากการพัฒนาของชุมชนตามแนวสองข้างทางของถนนสายหลัก ก่อให้เกิดปัญหาการจราจรชะลอตัวบนทางหลวงบริเวณที่ผ่านเขตชุมชน การควบคุมการเข้าถึงไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งการเดินทางไปมาหาสู่กันระหว่างชุมชนสองฝั่งทาง ทำให้เกิดปัญหาการตัดกันของกระแสจราจร และนำมาซึ่งอุบัติเหตุและความล่าช้าในการเดินทาง กรมทางหลวงจึงมีแนวคิดที่จะปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวงสายหลัก เพื่อลดจุดตัดของกระแสการจราจร ทำให้ผู้ใช้เส้นทางสามารถใช้ความเร็วในการเดินทางได้อย่างเหมาะสม คล่องตัว และลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ
จากการสำรวจและวิเคราะห์สภาพการจราจรบนทางหลวงสายหลัก กรมทางหลวงพบว่าปัญหาหลักที่ส่งผลให้เกิดการจราจรติดขัดมาจากสาเหตุ ได้แก่ จุดกลับรถบนทางหลวงหลักส่วนใหญ่ในปัจจุบันอยู่ในระดับพื้นดินบริเวณเกาะกลางถนน แถวคอยที่รอกลับรถส่งผลให้เกิดปัญหาการตัดกันของกระแสการจราจร อีกทั้งทางหลวงสายหลักในปัจจุบันมีปริมาณจราจรมากและขาดการควบคุมการใช้งานที่ดี ทำให้เกิดความต้องการในการกลับรถเป็นจำนวนมาก และการที่ทางหลวงสายหลักมีขนาดความกว้าง มากกว่า 4 ช่องจราจร ส่งผลทำให้จุดกลับรถบริเวณเกาะกลางทำได้ยากและเป็นอันตราย นอกจากนี้การกลับรถที่เกาะกลางถนน จะเป็นการรบกวนและกีดขวางการจราจรบนช่องทางขวาสุด ซึ่งเป็นช่องจราจรที่มีความเร็วสูงที่สุด หรือกรณีการกลับรถบรรทุก มักกีดขวางการจราจรทั้งเส้นทาง ทำให้เกิดการชะลอหรือหยุดการจราจร
อีกหนึ่งสาเหตุของปัญหาคือจุดตัดทางแยกระหว่างทางหลวงสายหลักกับทางสายรองไม่ควรมีจุดตัดในระดับเดียวกัน เนื่องจากข้อจำกัดด้านความจุของทางแยก ก่อให้เกิดความล่าช้าในการเดินทาง และอุบัติเหตุกับรถบนทางสายหลักที่มีความเร็วสูงและมีปริมาณมาก ต้องหยุดรถเพื่อให้รถจากทางสายรองสามารถผ่านได้ ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ทำให้ไม่สามารถควบคุมเวลาในการเดินทางบนทางสายหลักได้ อีกทั้งปัญหาการเชื่อมต่อระหว่างชุมชนสองข้างทาง ทำให้ทางหลวงสายหลักมีปริมาณจราจรมากติดขัด บริเวณชุมชนมักมีปริมาณจราจรที่เดินทางระหว่างกันสูง การตัดของกระแสจราจรส่งผลกระทบต่อการจราจรบนทางหลวงสายหลักติดขัด
ปัจจุบันกรมทางหลวงได้ดำเนินการศึกษาหาวิธีการแก้ไขปัญหาจราจรบนทางหลวงสายหลัก จากกรุงเทพมหานครสู่ภูมิภาค ในรัศมี 200 กิโลเมตร รอบกรุงเทพมหานคร เพื่อแก้ไขปัญหาจราจร ลดอุบัติเหตุ และเพิ่มประสิทธิภาพการเคลื่อนตัวจราจรบนทางหลวงสายหลักแล้วเสร็จ ตั้งแต่ตุลาคม 2553 และกรมทางหลวงได้เริ่มบรรจุแผนงานโครงการเหล่าเพื่อดำเนินการ เพื่อขอรับจัดสรรงบประมาณตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา แต่ถึงอย่างไรงบประมาณที่กรมทางหลวงได้รับการจัดสรรในแต่ละปีก็ยังมีอยู่อย่างจำกัด ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จตามแผนงานเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรจากปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้นได้ทั้งหมด ส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด และอุบัติเหตุบนทางหลวงสายหลัก
ที่ผ่านมากรมทางหลวงได้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาจราจรบนทางสายหลักที่เส้นทางสายประธานในการเชื่อมต่อระหว่างจังหวัดที่มีปริมาณจราจรมากกว่า 40,000 คันต่อวัน มีช่องจราจรมากกว่า 6 ช่องจราจร และมีความเร็วสูงก่อน โดยมีรูปแบบการแก้ไขปัญหาคือ สร้างสะพานลอยข้ามทางหลวงสายหลักสำหรับคนในชุมชนสองข้างทางและรถจักรยายนต์ สะพานลอยกลับรถเกือกม้า สะพานลอยข้ามทางแยกบนทางหลวงสายหลัก และทางแยกต่างระดับ โดยการเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวงนั้นไม่ใช่เพียงแก้ปัญหาให้ในแต่ละจุดที่เกิดปัญหา เพราะเนื่องจากการปรับปรุงในจุดใดจุดหนึ่ง อาจจะส่งผลกระทบต่อเนื่องยังจุดอื่นต่อไป จึงจำเป็นต้องพิจารณาดำเนินการแก้ไขเป็นระบบตลอดทั้งเส้นทาง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาได้มีประสิทธิภาพสูงสุด มากไปกว่านั้นรูปแบบการแก้ไขปัญหาให้ทางหลวงสายหลักควรเป็นไปในรูปแบบคล้ายกัน เพื่อช่วยลดความสับสนของผู้ขับขี่ ลดเวลาในตัดสินใจขณะขับขี่ และช่วยเพิ่มความปลอดภัยและประสิทธิภาพของทางหลวงสายหลัก โดยให้ช่องจราจรด้านขวาเป็นช่องจราจรหลักที่เดินทางได้รวดเร็ว สามารถขับขี่ได้ด้วยความเร็วคงที่ ไม่มีการรบกวนกระแสจราจร โดยแยกรูปแบบการเดินทางที่รบกวนกระแสจราจรหลัก เช่นการกลับรถ การเข้าและออกทางหลัก ให้อยู่ที่ช่องจราจรซ้ายทางสุดที่ความเร็วต่ำและยกเลิกสัญญาณไฟจราจรทางหลวงสายหลัก โดยเฉพาะที่มีช่องจราจรขนาด 6 ช่องจราจรขึ้นไป โดยกรมทางหลวงมีแผนดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวงบนสายหลักซึ่งประกอบด้วย
- ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) ช่วง กรุงเทพมหานคร – สระบุรี และช่วง ชัยนาท – นครสวรรค์
- ทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ช่วง สระบุรี – นครราชสีมา
- ทางหลวงหมายเลข 4 (เพชรเกษม) ช่วง สามพาน – ชะอำ และ ทางหลวงหมายเลข 37 ช่วง หัวหิน – ปราณบุรี รวม ทางหลวงหมายเลข 37(เลี่ยงเมืองหัวหิน) ช่วง ชะอำ – ปราณบุรี
- ทางหลวงหมายเลข 32 (เอเชีย) ช่วง บางปะอิน – ชัยนาท
- ทางหลวงหมายเลข 34 (บางนา – ตราด) ช่วง บางนา – ชลบุรี
- ทางหลวงหมายเลข 35 (พระรามที่ 2) ช่วง ดาวคะนอง – ปากท่อ