โครงการบูรณะปรับปรุงทางหลวง

ปัจจุบันประเทศไทยมีถนนในความดูแลของกรมทางหลวงระยะทาง 66,940 กิโลเมตร (รวมทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง) โดยที่ผ่านมากรมทางหลวงมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ ที่ได้รับจัดสรรไม่เพียงพอกับความเสียหายของโครงข่ายถนนที่มีอยู่และที่เกิดขึ้นใหม่อย่างต่อเนื่อง จากการเสื่อมสภาพตามอายุการใช้งานผนวกกับปริมาณการจราจรที่สูงขึ้น ส่งผลให้ทางหลวงสายหลักระหว่างภาคยังคงมีสภาพชำรุดเสียหายจำนวนมากเป็นระยะทางยาวต่อเนื่อง
ที่ผ่านมากรมทางหลวงได้รับงบประมาณเพื่อซ่อมแซมทางหลวงตาม พรบ.งบประมาณประจำปี ภายใต้แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการบูรณะทางหลวงสายหลัก ซึ่งงบประมาณประจำที่ได้รับทุกปีไม่เพียงพอกับความเสียหายที่เกิดขึ้นประกอบกับความเสียหายทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา กรมทางหลวงยังไม่เคยได้รับนโยบายจากรัฐบาลเพื่อบูรณะซ่อมแซมทางหลวงเส้นทางสายหลักทั้งโครงข่ายแบบเบ็ดเสร็จในลักษณะโครงการขนาดใหญ่ เพื่อลดความเดือนร้อนแก่ประชาชนผู้ใช้เส้นทาง โดยเฉพาะเส้นทางสายหลักซึ่งรองรับการขนส่งสินค้าภายในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน ให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพของโครงข่ายเพื่อลดต้นทุนการขนส่งให้สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาค
ด้วยเหตุผลดังกล่าว กรมทางหลวงได้เริ่มดำเนินการโครงการก่อสร้างบูรณะทางหลวงสายหลักมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2552 เพื่อให้โครงข่ายทางหลวงยังคงศักยภาพและมีความพร้อมที่จะขับเคลื่อนและสนับสนุนให้นโยบายหลักของกระทรวงคมนาคม โดยสมรรถนะการให้บริการของโครงข่ายทางหลวง เป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มความคล่องตัวในการเดินทาง ทำให้เกิดความต่อเนื่องในเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างภาค ระหว่างจังหวัด สามารถรองรับปริมาณการเดินทางขนส่งภายในประเทศและการเชื่อมต่อไปยังประเทศต่างๆในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนโครงข่ายคมนาคมที่สมบูรณ์และต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพสามารถรองรับรูปแบบการเดินทางแบบใหม่ซึ่งจะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงระบบโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ของประเทศ
โครงการบูรณะปรับปรุงทางหลวงดำเนินการบูรณะซ่อมแซมทางหลวงสายหลักซึ่งเป็นโครงข่ายระดับประเทศ ที่เชื่อมโยงการเดินทางทั้งในประเทศระดับภาค โดยดำเนินการบูรณะปรับปรุงผิวทางและไหล่ทางของทางผิวแอสฟัลท์และผิวคอนกรีต รวมทั้งชั้นโครงสร้างทางที่ชำรุดเสียหาย เพื่อปรับปรุงให้ผิวทางมีความเรียบตลอดเส้นทาง สามารถใช้ความเร็วตามที่ออกแบบได้อย่างต่อเนื่อง โดยเน้นดำเนินการบนโครงข่ายทางหลวงสายหลักของกรมทางหลวง ซึ่งได้แก่ ทางหลวงที่อยู่ในโครงการเร่งรัดขยายสายประธานให้เป็น 4 ช่องจราจร ระยะที่ 1 ระยะที่ 2 และโครงข่ายต่อเนื่องที่เชื่อมโยงระหว่างภาคจังหวัด และเชื่อมโยงการขนส่งรูปแบบอื่น รวมถึงทางหลวงอาเซียนที่เชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน พื้นที่ดำเนินการในโครงการนี้ประกอบด้วย ทางหลวงหลักทั้งหมด 12 สายทางดังนี้
เส้นทางในพื้นที่ภาคเหนือ
- ทางหลวงหมายเลข 1 กรุงเทพฯ – แม่สาย (จ.เชียงราย)
- ทางหลวงหมายเลข 1095 เชียงใหม่ – แม่ฮ่องสอน
- ทางหลวงหมายเลข 117 นครสวรรค์ – พิษณุโลก
- ทางหลวงหมายเลข 11 สิงห์บุรี – เชียงใหม่
เส้นทางในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
- ทางหลวงหมายเลข 2 สระบุรี – หนองคาย
เส้นทางในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก
- ทางหลวงหมายเลข 3 กรุงเทพฯ – หาดเล็ก (จ.ตราด)
- ทางหลวงหมายเลข 35 ธนบุรี – ปากท่อ
- ทางหลวงหมายเลข 32 พระนครศรีอยุธยา – อุทัยธานี
- ทางหลวงหมายเลข 331 สัตหีบ – มาบเอียง และ สัตหีบ – ฉะเชิงเทรา
เส้นทางในพื้นที่ภาคใต้
- ทางหลวงหมายเลข 43 หาดใหญ่ – ยะหริ่ง (จ.ปัตตานี)
- ทางหลวงหมายเลข 4 กรุงเทพฯ – สะเดา (จ.สงขลา)
- ทางหลวงหมายเลข 41 ชุมพร – พัทลุง