ระบบทะเบียนทางหลวง

บทนำ
กรมทางหลวงเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบเส้นทางโครงข่ายทางหลวงเพื่อเชื่อมโยงพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศให้รองรับการขนส่ง การเดินทางของประชาชนให้ได้รับความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัย โดยได้ดำเนินการก่อสร้างและบำรุงรักษาเส้นทางตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งที่มีลักษณะเป็นทางหลวงพิเศษ ทางหลวงแผ่นดินสายประธาน และทางหลวงแผ่นดินสายรอง รวมระยะทางมากกว่า 5 หมื่นกิโลเมตร ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ ด้วยเหตุนี้การบริหารจัดการระบบข้อมูลทะเบียนสายทาง (Highway Registration Information System) เกี่ยวกับข้อมูลประวัติและรายละเอียดต่างๆ ของสายทางในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง จึงเป็นกลไกและรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจของกรมทางหลวงในทุกด้าน ทั้งหน่วยงานส่วนกลางและส่วนภูมิภาค สำหรับใช้ในการอ้างอิงและการบริหารจัดงานทางที่จะต้องมีการกำกับ ควบคุมดูแลรับผิดชอบ ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเผยแพร่ข้อมูลโครงข่ายทางหลวงแก่หน่วยงานอื่นและประชาชนทั่วไป
การบริหารจัดการระบบทะเบียนทางหลวง เป็นภารกิจที่รับผิดชอบโดยส่วนควบคุมระบบทางหลวงสำนักแผนงาน ทั้งในส่วนของการศึกษากำหนดหลักเกณฑ์ ความต้องการระบบโครงข่ายทางหลวงในความรับผิดชอบ การวิเคราะห์จัดทำระบบทางหลวง ประเภททางหลวง และงานทะเบียนทางหลวง การแก้ไขระบบหมายเลขทางหลวงและทางตอนควบคุม จนถึงการรับมอบ-โอนมอบทางหลวง เพื่อให้โครงข่ายทางหลวงมีความสมบูรณ์และต่อเนื่อง รวมถึงรองรับการพัฒนาเมืองและรูปแบบการคมนาคมขนส่งทางถนนที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ความหมายและการจำแนกประเภททางหลวง (Highway Definition and Classification)
ตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. ๒๕๓๕ (ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๐๙ ตอนที่ ๕๒ ลงวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๓๕) และพระราชบัญญัติทางหลวง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๙ (ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 123 ตอนที่ ๙๒ ก ลงวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๔๘) ได้ให้บทนิยามของคำว่า “ทางหลวง” ไว้ดังนี้
มาตรา ๓ “ทางหลวง” หมายความว่า ทางหรือถนนซึ่งจัดไว้เพื่อประโยชน์ในการจราจรสาธารณะทางบกไม่ว่าระดับพื้นดินใต้หรือเหนืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น นอกจากทางรถไฟและหมายรวมถึงที่ดิน พืชพันธุ์ไม้ทุกชนิด สะพาน ท่อหรือรางระบายน้ำ อุโมงค์ ร่องน้ำ กำแพงกันดิน เขื่อน รั้ว หลักสำรวจ หลักเขต หลักระยะป้ายจราจร เครื่องหมายจราจร เครื่องหมายสัญญาณ เครื่องสัญญาณไฟฟ้า เครื่องแสดงสัญญาณที่จอดรถ ที่พักคนโดยสาร ที่พักริมทาง เรือหรือยานพาหนะสำหรับขนส่งข้ามฟาก ท่าเรือสำหรับขึ้นหรือลงรถ และอาคารหรือสิ่งอื่นอันเป็น
อุปกรณ์งาน บรรดาที่มีอยู่หรือจัดไว้ในเขตทางหลวงเพื่อประโยชน์แก่งานทางหรือผู้ใช้ทางหลวงนั้นด้วย
มาตรา ๖ ทางหลวงมี ๕ ประเภท คือ
(๑.) ทางหลวงพิเศษ
(๒.) ทางหลวงแผ่นดิน
(๓.) ทางหลวงชนบท
(๔.) ทางหลวงท้องถิ่น
(๕.) ทางหลวงสัมปทาน
และกำหนดให้ทางหลวงพิเศษ ทางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงสัมปทาน อยู่ในความควบคุมของกรมทางหลวงโดย อธิบดีกรมทางหลวงเป็นผู้จัดให้ลงทะเบียนไว้ ณ กรมทางหลวง (มาตรา ๑๓ (๑) ) และมีคำนิยามดังนี้
มาตรา ๗ ทางหลวงพิเศษ คือ ทางหลวงที่จัดหรือทำไว้เพื่อให้การจราจรผ่านได้ตลอดรวดเร็วเป็นพิเศษ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดและได้ลงทะเบียนไว้เป็นทางหลวงพิเศษ โดยกรมทางหลวงเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างขยาย บูรณะและบำรุงรักษา รวมทั้งควบคุมให้มีการเข้าออกได้เฉพาะ โดยทางเสริมที่เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงพิเศษตามที่กรมทางหลวงจัดทำขึ้นไว้เท่านั้น
มาตรา ๘ ทางหลวงแผ่นดิน คือ ทางหลวงสายหลัก ที่เป็นโครงข่ายเชื่อมระหว่างภาค จังหวัด อำเภอ ตลอดจนสถานที่สำคัญ ที่กรมทางหลวงเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ขยาย บูรณะ และบำรุงรักษา และได้ลงทะเบียนไว้เป็นทางหลวงแผ่นดิน
มาตรา ๑๒ ทางหลวงสัมปทาน คือ ทางหลวงที่รัฐบาลได้ให้สัมปทานตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวงที่ได้รับสัมปทาน และได้ลงทะเบียนไว้เป็นทางหลวงสัมปทาน
ระบบหมายเลขทางหลวงแผ่นดิน
ในยุคสมัยเริ่มแรกของการก่อสร้างทางหลวง กรมทางหลวงนิยมที่จะนำชื่อหรือนามของบุคคลที่มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับทางสายนั้นๆ มาใช้เพื่อเรียกขาน ถนนหรือสะพาน เช่น ถนนวิภาวดีรังสิต สะพานสารสินเป็นต้น ซึ่งต่อมาเมื่อระบบทางหลวงได้มีการพัฒนาเป็นโครงข่ายในระดับประเทศ จึงทำให้การเรียกชื่อดังกล่าวอาจก่อให้เกิดการสับสนและไม่สามารถระบุพิกัด ตำแหน่ง ของสายทางนั้นได้อย่างชัดเจนและรวดเร็ว เหมาะสมกับปริมาณโครงข่ายทางหลวงที่เกิดขึ้น
ดังนั้นจึงได้มีการริเริ่มนำ “ระบบหมายเลขทางหลวง” มาใช้ในการกำกับเรียกขานเพื่อแสดงที่ตั้งของทางหลวงในความควบคุมของกรมทางหลวง อันได้แก่ ทางหลวงพิเศษ ทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงสัมปทาน โดยแต่ละหมายเลขที่ใช้กำกับทางหลวง มีความหมายดังนี้
ทางหลวงที่ขึ้นต้นด้วยหมายเลข ๑ แสดงว่าเป็นทางหลวงที่มีที่ตั้งอยู่ในภาคเหนือ
ทางหลวงที่ขึ้นต้นด้วยหมายเลข ๒ แสดงว่าเป็นทางหลวงที่มีที่ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ทางหลวงที่ขึ้นต้นด้วยหมายเลข ๓ แสดงว่าเป็นทางหลวงที่มีที่ตั้งอยู่ในภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ตอนบน
ทางหลวงที่ขึ้นต้นด้วยหมายเลข ๔ แสดงว่าเป็นทางหลวงที่มีที่ตั้งอยู่ในภาคใต้
ซึ่งระบบหมายเลขทางหลวงดังกล่าวได้กำหนดให้ใช้ตัวเลขจำนวน ๔ หลัก ในการกำหนดหมายเลขทางหลวง โดยได้จำแนกทางหลวงออกเป็น ๔ ระดับย่อยดังนี้
๑. ทางหลวงหมายเลข ๑ หลัก
หมายถึง ทางหลวงสายหลัก ที่เชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพมหานครไปยังภูมิภาคหลักของประเทศไทย
อันได้แก่ภาค ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ซึ่งสามารถ จำแนกย่อยได้อีกเป็น ๒ กลุ่ม คือ ทางหลวงแผ่นดิน และทางหลวงพิเศษ โดยมีรายละเอียดดังนี้
๑.๑ ทางหลวงแผ่นดิน หมายถึง ทางหลวงแผ่นดินสายประธานเชื่อมการจราจรระหว่างภาคต่อภาค
ปัจจุบันมีอยู่ ๔ สาย คือ
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑ (ถนนพหลโยธิน) จากกรุงเทพมหานคร – แม่สาย (เขตแดน)
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒ (ถนนมิตรภาพ) จากสระบุรี – สะพานมิตรภาพที่หนองคาย (เขตแดนไทย/ลาว)
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓ (ถนนสุขุมวิท) จากกรุงเทพมหานคร – หาดเล็ก จ.ตราด
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔ (ถนนเพชรเกษม) จากกรุงเทพมหานคร – จุดผ่านแดนถาวรสะเดา
(เขตแดนไทย/มาเลเซีย)
๑.๒ ทางหลวงพิเศษ กรมทางหลวงได้พิจารณากำหนดระบบหมายเลข ให้เป็นระบบหมายเลข
ทางหลวงใหม่ โดยมีหลักเกณฑ์ในการจัดระบบหมายเลขทางหลวงพิเศษ เป็นดังนี้
ทางหลวงพิเศษหมายเลข ๕ คือ โครงข่ายทางหลวงพิเศษที่เชื่อมต่อจาก กรุงเทพมหานคร ไปยังภาคเหนือ และโครงข่ายทางหลวงพิเศษในพื้นที่ภาคเหนือ จะมีหมายทางหลวงเลขนำหน้าด้วยหมายเลข ๕
ทางหลวงพิเศษหมายเลข ๖ คือ โครงข่ายทางหลวงพิเศษที่เชื่อมต่อจาก กรุงเทพมหานคร ไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และโครงข่ายทางหลวงพิเศษในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีหมายเลขทางหลวงนำหน้าด้วยหมายเลข ๖
ทางหลวงพิเศษหมายเลข ๗ คือ โครงข่ายทางหลวงพิเศษที่เชื่อมต่อจาก กรุงเทพมหานคร ไปยังภาคตะวันออก และโครงข่ายทางหลวงพิเศษในพื้นที่ภาคตะวันออก จะมีหมายเลขทางหลวงนำหน้าด้วยหมายเลข ๗
ทางหลวงพิเศษหมายเลข ๘ คือ โครงข่ายทางหลวงพิเศษที่เชื่อมต่อจาก กรุงเทพมหานคร ไปยังภาคใต้และโครงข่ายทางหลวงพิเศษในพื้นที่ภาคใต้ จะมีหมายเลขทางหลวงนำหน้าด้วยหมายเลข ๘
ทางหลวงพิเศษหมายเลข ๙ คือ ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเพมหานคร และโครงข่ายทางหลวงพิเศษบริเวณรอบนอกกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะมีหมายเลขทางหลวงนำหน้าด้วยหมายเลข ๙
๒. ทางหลวงหมายเลข ๒ หลัก
หมายถึง ทางหลวงแผ่นดินสายประธานตามภาคต่างๆ ที่มีลักษณะโครงข่ายเชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข ๑ หลัก ผ่านพื้นที่สำคัญหลายจังหวัดเชื่อมต่อกันเป็นระยะทางยาว และมีลักษณะกระจายพื้นที่ให้บริการของทางหลวง จากหมายเลข ๑ หลัก ออกสู่พื้นที่ทั่วประเทศอย่างเหมาะสม
เช่น ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๒ ทางสาย อุดรธานี – นครพนม หรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 33 ทางสาย สุพรรณบุรี – อรัญประเทศ (เขตแดนไทย/กัมพูชา) เป็นต้น
๓. ทางหลวงหมายเลข ๓ หลัก
หมายถึง ทางหลวงแผ่นสายรองประธาน ที่มีลักษณะโครงข่ายเชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข ๑ หลัก
หรือ ๒ หลัก เข้าสู่สถานที่สำคัญของจังหวัด หรืออาจจะไม่ผ่านพื้นที่สำคัญ แต่มีลักษณะเชื่อมต่อเป็นโครงข่ายที่ดี สามารถกระจายพื้นที่ให้บริการทางหลวงออกสู่พื้นที่ย่อย หรือ เป็นทางลักษณะขนานกับแนวชายแดนต่อเนื่องกันเป็นระยะทางยาว เพื่อเป็นการสนับสนุนภารกิจของทหารในความมั่งคงของชาติ
เช่น ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๐๒ ทางสาย ชัยภูมิ – เขมราฐ เป็นทางหลวงแผ่นดินสายรองประธานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๑๔ ทางสาย บางปะกง – ฉะเชิงเทรา เป็นทางหลวงแผ่นดินสายรองประธานในภาคกลาง เป็นต้น
๔. ทางหลวงหมายเลข ๔ หลัก
หมายถึง ทางหลวงแผ่นดินที่เชื่อมระหว่างจังหวัดกับอำเภอหรือสถานที่สำคัญของจังหวัดนั้น ในลักษณะ
กระจายพื้นที่ให้บริการทางหลวงออกสู่พื้นที่ย่อย แต่ไม่ได้เชื่อมต่อเป็นโครงข่ายระยะยาว
เช่น ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๐๐๑ ทางสาย เชียงใหม่ – พร้าว เป็นทางหลวงในภาคเหนือ หรือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔๐๐๖ ทางสาย ราชกรูด – หลังสวน เป็นทางหลวงทางภาคใต้ เป็นต้น
ระบบหมายเลขทางหลวงเอเชีย/อาเซียน
(Asian/ASEAN Highway Route Numbering System)
ปัจจุบันระบบหมายเลขทางหลวงเอเชีย/อาเซียนในประเทศที่อยู่ในความควบคุมของกรมทางหลวง มีจำนวนทั้งสิ้น ๑๒ เส้นทาง ระยะทางรวมกันทั้งสิ้นยาวประมาณ ๖,๖๙๒.๕๐ กิโลเมตร แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ ระบบหมายเลขทางหลวงเอเชีย มีจำนวน ๙ เส้นทาง เป็นทั้งทางหลวงเอเชียและทางหลวงอาเซียน ระยะทางยาวประมาณ ๕,๔๕๗.๕๐ กิโลเมตร และระบบหมายเลขทางหลวงอาเซียน มีจำนวน ๓ เส้นทาง เป็นทางหลวงอาเซียนเพียงอย่างเดียว ระยะทางยาวประมาณ ๑,๒๓๕.๐๐ กิโลเมตร และมีรายละเอียดของโครงข่ายของระบบหมายเลขทางหลวงเอเชีย/อาเซียน ในประเทศไทย เป็นดังนี้
๑. ระบบหมายเลขทางหลวงเอเชีย
โครงข่ายทางหลวงเอเชีย เดิมใช้ระบบหมายเลขทางหลวงด้วยสัญลักษณ์ที่นำหน้าด้วยอักษรภาษาอังกฤษตัว พิมพ์ใหญ่ “A” ตามด้วยเลขอารบิคของหมายเลขทางหลวงเอเชีย เช่น A1, A2, เป็นต้น ต่อมาได้ มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านโครงข่ายและสัญลักษณ์ที่ใช้เรียกชื่อโครงข่ายทางหลวงเอเชียใหม่ เป็นสัญลักษณ์ที่นำหน้าด้วยด้วยอักษรภาษาอังกฤษตัวพิมพ์ใหญ่ “AH” ตามด้วยเลขอารบิคของหมายเลขทางหลวงเอเชีย เช่น AH 1, AH 2 เป็นต้น โดยได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นทางการขึ้น เมื่อประเทศไทยได้ร่วมลงนามความตกลงระหว่างรัฐบาลว่าด้วยโครงข่ายทางหลวงเอเชีย เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๗ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ในคราวประชุมคณะกรรมาธิการของเอสแคป สมัยที่ ๖๐ ซึ่งโครงข่ายทางหลวงเอเชียที่อยู่ในประเทศไทย ปัจจุบันมีจำนวน ๙ โครงข่าย ได้แก่ AH 1, AH 2, AH 3, AH 12, AH 13, AH 15, AH 16, AH 18 และ AH 19 รวมระยะทางยาว ๕,๔๕๗.๕๐ กิโลเมตร
๒. ระบบหมายเลขทางหลวงอาเซียน
โครงข่ายทางหลวงอาเซียน ได้มีการริเริ่มขึ้นเมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2540 ต่อมาได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจระดับรัฐมนตรี ว่าด้วยโครงการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงอาเซียน (Ministerial Understanding on the Development of ASEAN Highway Network Proiject - MU) ที่ประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียนได้ร่วมลงนามในการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน (ASEAN Transport Minister - ATM) ครั้งที่ ๕ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยมีคณะทำงานย่อยด้านทางหลวงอาเซียนที่มีประเทศไทยโดยกรมทางหลวงเป็นประธาน จากการศึกษาพัฒนาโครงข่ายทางหลวงอาเซียนมีโครงข่ายบางส่วนซ้อนทับกับโครงข่ายทางหลวงเอเชีย จึงกำหนดให้ระบบหมายเลขทางหลวงอาเซียนสอดคล้องกับระบบหมายเลขทางหลวงเอเชีย คือใช้นำหน้าด้วยอักษรภาษาภาษาอังกฤษตัวพิมพ์ใหญ่ “AH” ตามด้วยเลขอารบิคของหมายเลขทางหลวงอาเซียน ซึ่งได้รับการรับรองจากที่ประชุมอาวุโสของอาเซียน (STOM) ครั้งที่ ๒๑ เมื่อวันที่ ๑๗ – ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ ณ จังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันมีโครงข่ายทางหลวงอาเซียนที่อยู่ในประเทศไทย จำนวน ๑๒ โครงข่ายมีแนวเส้นทางซ้อนทับกับทางหลวงเอเชีย จำนวน ๙ โครงข่าย และมีแนวโครงข่ายอิสระอีก ๓ โครงข่าย ได้แก่ AH 112, AH 121 และ AH 123 รวมระยะทางยาวประมาณ ๑,๒๓๕.๐๐ กิโลเมตร
ดังนั้นระบบหมายเลขทางหลวงเอเชีย/อาเซียนในปัจจุบัน ใช้สัญลักษณ์ที่นำหน้าด้วยอักษรภาษาอังกฤษตัวพิมพ์ใหญ่ “AH” ตามด้วยเลขอารบิคของหมายเลขทางหลวงเอเชีย/อาเซียน ในประเทศไทยมีจำนวน ๑๒ โครงข่าย โดยโครงข่ายหมายเลข “AH” ตามด้วยเลขอารบิค 1 หลัก และ 2 หลัก จำนวน ๙ โครงข่าย มีสถานะเป็นทั้งทางหลวงเอเชียและอาเซียน รวมระยะทางยาวประมาณ ๕,๔๕๗.๕๐ กิโลเมตร และโครงข่ายหมายเลข “AH” ตามด้วยเลขอารบิค 3 หลัก จำนวน ๓ โครงข่าย มีสถานะเป็นเฉพาะทางหลวงอาเซียน รวมระยะทางยาวประมาณ ๑,๒๓๕.๐๐ กิโลเมตร
การรับมอบทางหลวง
กรมทางหลวงเป็นผู้ดำเนินการกำกับและควบคุมดูแลรับผิดชอบการก่อสร้างทางหลวง รวมถึงภารกิจที่เกี่ยวข้องกับงานทาง ภายใต้ขอบเขตของระเบียบและข้อกฎหมาย โดยเฉพาะการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวกับการได้มาของทางหลวงจากการรับมอบทางจากส่วนราชการอื่นหรือเจ้าของเดิม
การรับมอบทางหลวง แบ่งได้ 3 กรณี
กรณีที่ 1 กรมทางหลวงประสงค์จะขอรับทางจากส่วนราชการอื่นหรือเจ้าของทางเดิมมาดำเนินการตามโครงการที่วางไว้
กรณีที่ 2 ส่วนราชการอื่นหรือเจ้าของทางเดิมประสงค์จะมอบให้กรมทางหลวงรับไว้เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบต่อไป
กรณีที่ 3 ส่วนราชการอื่นหรือเจ้าของทางเดิมประสงค์จะมอบให้กรมทางหลวงรับไปดำเนินการปรับปรุง ซ่อมแซม และส่งมอบคืนเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ
สำนักแผนงาน ในฐานะคณะทำงานการจัดการความรู้ด้านที่ 1 แผนพัฒนาทางหลวง ได้จัดทำคู่มือแนวทางและขั้นตอนการรับมอบทางหลวง โดยเป็นส่วนหนึ่งของเอกสารชุดความรู้เรื่องการบริหารจัดการระบบทะเบียนทางหลวง เพื่อเป็นเอกสารเผยแพร่ให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้รับทราบและยึดถือปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน เดียวกัน ทั้งในส่วนของการตรวจสอบรายละเอียดความถูกต้องตามขั้นตอนต่างๆ และทราบถึงระเบียบและหลักเกณฑ์ในการพิจารณารับมอบทางหลวง เพื่อช่วยประกอบในการตัดสินใจ รวมถึงการศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติม อันจะช่วยให้การดำเนินงานตามขั้นตอนการรับมอบทางหลวงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพถูกต้อง รวดเร็วและลดปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นในงานต่อไป
ดาวน์โหลดที่นี่
ระบบข้อมูลสารสนเทศทะเบียนทางหลวง
ระบบข้อมูลสารสนเทศทะเบียนทางหลวง (Highway Registration Information System: HRIS) เป็นระบบบริหารจัดการข้อมูลทะเบียนทางหลวงและบัญชีสายทางผ่านระบบเครือข่าย เพื่อให้ผู้ใช้งานเข้าถึงข้อมูลได้โดยง่าย โดยมีคุณลักษณะที่สำคัญดังนี้
- เน้นงานบริหารจัดการข้อมูลทะเบียนทางหลวงและบัญชีสายทาง การแจ้งอนุมัติสายทาง การรับ/โอนมอบ ยกเลิกสายทาง และการปรับปรุงแก้ไขปัญชีสายทาง
- เป็นระบบฐานข้อมูลที่รวบรวมประวัติความเป็นมาของสายทางและเอกสารสำคัญต่างๆ
- มีระบบบริหารจัดการโครงข่ายทางหลวงเชิงพื้นที่ เช่น การววมตอน แยกตอน กลับทิศทาง การสร้างเส้นทางใหม่ การลบเส้นทางที่ถูกยกเลิก การขยับจุดตัดทางแยก เป็นต้น
- รองรับการปรับปรุงข้อมูลโครงข่ายสายทาง โดยวิธีการส่งออก/นำเข้าข้อมูลในรูปแบบ Shapefile หรือ KML ได้ (กรณีต้องการแก้ไข GIS เป็นรายสาย)
ลิงค์เว็บไซต์ http://hris.doh.go.th/